รางวัลลูกโลกทองคำ กับเบื้องหลังที่เป็นข้อกังขา
เรตติ้งอันล้นหลามจากการถ่ายทอดสดการประกาศผลรางวัลใหญ่ๆ ทางภาพยนตร์ ถูกยกเป็นปัจจัยสำคัญเสมอ จนบางครั้งอาจถึงขั้นแทรกแซงมาตรฐานในการพิจารณา โดยเฉพาะกับรางวัลลูกโลกทองคำปีนี้ที่ก่อให้เกิดข้อกังขาเช่นเดียวกับที่แล้วๆ มา
แม้มุกตลกจะไม่เกิดหรือไม่มีฉากร้องเพลงสักฉากในเรื่อง แต่ The Tourist ภาพยนตร์ทริลเลอร์ที่ได้นักแสดงดังอย่าง จอห์นนี่ เด็ปป์ และ แองเจลิน่า โจลี่ มาเป็นหน้าหนังก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาตลก หรือ เพลงบนเวทีลูกโลกทองคำปีหน้านี้ ซึ่งการนำผลงานที่นักวิจารณ์มองข้ามมาเป็นดาวเด่นของงาน ชี้ให้เห็นความพยายามอย่างสูงของคณะกรรมการในการดึงซูเปอร์สตาร์มาเป็นจุดสนใจของงานให้มากที่สุด
ที่ถูกวิจารณ์ยิ่งกว่าคือการเข้าชิงสาขาเดียวกันนี้ของ Burlesque ภาพยนตร์ที่ถูกวิจารณ์ว่าเหมือนมิวสิควิดีโอมากกว่าดูหนัง เมื่อมีรายงานเผยว่าทางโซนี่ พิคเจอร์ บริษัทผู้สร้างได้พาคณะกรรมการเดินทางไปยังลาส เวกัส โดยออกค่าใช้จ่ายทั้งค่าห้องพักโรงแรมและภัตตาคารสุดหรู เพื่อเข้าชมคอนเสิร์ตส่วนตัวของ แชร์ หนึ่งในนักแสดงนำของเรื่อง
เส้นบางๆ ระหว่างการล็อบบี้ และ การติดสินบนกรรมการบนเวทีลูกโลกทองคำเคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งตอนที่ดาราสาว ชารอน สโตน ถูกมองว่าซื้อตำแหน่งผู้เข้าชิงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากผลงานในเรื่อง The Muse ด้วยการแจกนาฬิกาทองคำแก่คณะกรรมการไม่กี่วันก่อนการลงคะแนนเมื่อปี 1999 หรือ เหตุการณ์อื้อฉาวในปี 1981 เมื่อการคว้ารางวัลนักแสดงหน้าใหม่ของ เปีย ซาโดร่า ในเรื่อง Butterfly มีเบื้องหลังว่า สามีมหาเศรษฐีของเธอเชิญเหล่ากรรมการมาเป็นแขกทั้งที่คาสิโน และ บ้านสุดหรูของเขา โดยมีเกียรติยศบนเวทีลูกโลกทองคำเป็นสิ่งตอบแทน
ขณะที่จำนวนกรรมการทั้งหมดของเวทีออสการ์มีกว่า 6,000 ราย การล็อบบี้ความสำเร็จบนเวทีลูกโลกทองคำซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวูดเพียง 80 กว่าราย จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นง่ายดายกว่ามาก
แม้คุณภาพจะเป็นข้อกังขา แต่ตราบที่การจัดงานในแต่ละปีสร้างรายได้ให้กับสมาคมได้ถึง 6 ล้านเหรียญ และอีก 27 ล้านเหรียญสำหรับค่าโฆษณาแก่ช่อง NBC สิ่งเหล่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ลูกโลกทองคำใช้ความฉาบฉวยของบรรยากาศบนพรมแดงและงานเลี้ยงของเหล่าคนดัง รักษาสถานะงานแจกรางวัลอันดับ 2 ของฮอลลีวูดไว้เช่นเดิม และปล่อยให้มาตรฐานของการแจกรางวัลเป็นข้อกังขาของวงการต่อไป