กุมารแพทย์ห่วงภาวะแทรกซ้อนโรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก
กุมารแพทย์ และพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐ และเอกชนทั่วประเทศกว่า 500 คน ร่วมประชุมแนวทางการวินิจฉัย และดูแลรักษาโรคมือ เท้า ปาก แบบครบวงจร เพื่อสร้างความเข้าใจในการตรวจวินิจฉัยโรคมือ เท้า ปาก ที่ตรงกัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี บอกว่า โรคมือ เท้า ปาก ที่ระบาดอยู่ขณะนี้แม้ไม่มียารักษา การรักษาทำได้แค่ประคับประคองไปตามอาการ ซึ่งปกติแล้วแล้วผู้ป่วยกว่าร้อยละ 95 อาการจะไม่รุนแรง
แต่สิ่งที่แพทย์กังวล และจับตาเป็นพิเศษ คือเด็กกลุ่มเสี่ยง ในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบ หืด โรคหัวใจ โรคเลือดจาง เด็กคลอดก่อนกำหนด กินยากดภูมิคุ้มกัน ประเภทสเตียรอยด์ เมื่อได้รับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ที่รุนแรง จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมอง
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ปฏิเสธปกปิดข้อมูลกรณีการเสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปาก ของเด็กหญิงอายุ 2 ปี 8 เดือน โดยยืนยันว่า การวินิจฉัยต้องเป็นไปตามขั้นตอนของแพทย์ ต้องดูว่าลักษณะของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่พบเป็นอย่างไร และต้องวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลแน่นอน เมื่อตรวจจากอุจจาระ และน้ำในไขสันหลังก็ไม่พบเชื้อดังกล่าว แพทย์จึงส่งสารคัดหลั่งในลำคอตรวจอีกครั้ง ซึ่งระหว่างนั้นผลจากห้องปฎิบัติการยังไม่ออก แพทย์จึงระบุสาเหตุการเสียชีวิตตามอาการคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่เมื่อผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการออกมา ก็ยืนยันว่าพบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
ที่จังหวัดพิษณุโลก นักเรียนระดับปฐมวัยในเขตเทศบาลเมือง ช่วยกันทำความสะอาดอุปกรณ์การเรียน หลังพบเด็กป่วยต้องสงสัย โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 287 คน ส่วนจังหวัดน่าน และจังหวัดกำแพงเพชร ครู และเจ้าหน้าที่ศูนย์เด็กเล็ก ตรวจคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียน และให้เด็กล้างมือบ่อยครั้งขึ้น ขณะที่จังหวัดตาก เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตรวจสอบคนเดินทางผ่านด่านพรมแดนไทย-พม่า บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด โดยเฉพาะเด็กชาวพม่า
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดบ้านพลับ ตำบลดู่ทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เร่งทำความสะอาด หลังพบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก 1 คน และปิดเรียน 1 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาด พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการแล้ว
ทั้งนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-22 ก.ค. 16,860 คน และผู้เสียชีวิต 1 คน จึงขอให้ผู้ปกครองสังเกตอาการผิดปกติในเด็ก หากมีไข้สูง 2 วัน อาเจียน หอบเหนื่อย ซึม มีอาการกล้ามเนื้อชักกระตุก ควรรีบไปพบแพทย์ แม้จะไม่มีตุ่มขึ้นที่มือ เท้า และภายในปากก็ตาม