พรรคเพื่อไทยจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการกำหนดทิศทางทางการเมืองตลอด 2 วัน โดยสรุปที่จะคงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติไว้ในวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และ เห็นควรเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ยังไม่สรุปแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจน โดยระบุที่จะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อน
ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญและการพิจารณากฎหมายสำคัญอาจต้องล่าช้าไปเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์มาเน้นย้ำให้สมาชิกพรรคอดทนในการเดินหน้าแก้กฎหมาย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องกรอบเวลาที่จะทำให้ตัวเองกลับประเทศช้าไปอีก
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะแกนนำกลุ่ม นปช. ยอมรับในสถานการณ์ว่า การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญและพิจารณาร่างกฎหมายปรองดอง อาจส่งผลกระทบต่อเสถียภาพของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย จึงต้องชะลอไว้ก่อน
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จัดเวทีประชาชนผ่าความจริงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เป็นเวทีที่ 15 และ เวทีสุดท้าย ก่อนจะมีการเปิดสภาฯ 1 ส.ค.นี้ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแกนนำพรรคผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัย
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ว่า ในยุคที่เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงก่อนปี 2544 ไฟใต้ดับแล้ว แต่ เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี กลับเกิดเหตุไม่สงบขึ้นอีก โดยเฉพาะหลังเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ 7 เมษายน 2544 และ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศแก้ปัญหาใต้ภายใน 3 เดือน นำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชายแดนใต้เกือบ 5,000 คน พร้อมเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภาคใต้ รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของปัญหาอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตเหมือนในขณะนี้
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สวมเสื้อสีแดงสกรีนข้อความหยุดปรองดองจอมปลอม โดยระบุว่า เหตุผลที่สวมเสื้อแดงเพราะเป็นสีของคนทั้งประเทศไม่ควรแบ่งแยกสีอีกต่อไป พร้อมเรียกร้องรัฐบาลดูแลมวลชนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวคัดค้านกิจกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการเคลื่อนไหวที่มากขึ้นน่าจะเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมสนับสนุน พ.ร.บ.ปรองดอง
นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ ยังย้ำว่า ประวัติการทำงานการเมืองขาวสะอาดจึงทำให้มีกระบวนการเปิดเผยเรื่องหนีทหาร ซึ่งเป็นเรื่องเก่า เห็นว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ มากกว่า ทั้งปัญหาภาคใต้ ปัญหาการส่งออกข้าว พร้อมย้ำว่าไม่เคยเรียกร้องนิรโทษกรรม เพราะไม่ได้กระทำผิดรวมทั้ง พร้อมทั้งจะไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่ทุจริต และ ปลุกระดมมวลชน โดยขอให้จับตาช่วง 4 เดือนนี้เพราะจะเป็นจังหวะที่รัฐบาลอาจผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์