สำนักข่าวอิศราสรุปยอด
พบว่า เหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ย้อนไปตั้งแต่ปี 2547-2555 ภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรงได้พุ่งสูงขึ้นถึง 2,078 เหตุการณ์ในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเกิดเหตุการณ์สูงสุดในปี 2550 คือ 2,475 เหตุการณ์ หลังจากนั้นเหตุการณ์มีแนวโน้มลดลง
ปี 2555 เหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลมีนโยบายใช้แนวทางสันติวิธี ให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความเห็นต่างได้ร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งในทุกด้าน ผลของการปรับเปลี่ยนนโยบายแม้ยังไม่มีการประเมิน แต่พบว่า ค่าเฉลี่ยของการเกิดเหตุการณ์ลดลงจาก 2.97 เหตุการณ์ต่อวัน ในปี 2554 เหลือ 2.42 เหตุการณ์ต่อวันในปี 2555 หรือลดลงร้อยละ 18.51
เมื่อเทียบสถิติเหตุการณ์รอบ 6 เดือน กรณียิง ระเบิด และลอบวางเพลิง ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. 2554 และ ม.ค.- 21 ก.ค. 2555 พบว่า ในภาพรวมมีเหตุการณ์ลดลงจาก 406 ครั้ง เหลือ 172 ครั้ง นอกจากนี้ กรณีระเบิดในช่วงเวลาเดียวกันลดลงจาก 147 ครั้งในปี 2554 และเหลือ 92 ครั้งในปี 2555 หรือลดลงร้อยละ 37.41
สถิติเหตุการณ์ความไม่สงบพบว่า พื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 มีแนวโน้มลดลงทุกจังหวัด และในภาพรวมทั้งสามจังหวัดลดลงจาก 511 เหตุการณ์ เหลือเพียง 306 เหตุการณ์ หรือลดลง 205 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 40.11 ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ห้วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 พบว่าผู้เสียชีวิตลดลงจาก 234 คน เหลือ 145 คน หรือลดลง 89 คน คิดเป็นร้อยละ 38.04
สถิติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ (รวมกัน) ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. 2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ลดลง 216 คน โดยเมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่า จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลง 78 คน, จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บคงที่ และจ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลง 138 คน