นาฏลีลาวากเนอร์โดยศิลปินยิว
ขณะที่แขนซ้ายเกาะเกี่ยวกันไว้เพื่อแสดงการเต้นโฮรา ท่าเต้นล้อมวงพื้นบ้านของอิสราเอล แต่มือขวาของนักแสดงกลับทำท่าสดุดีแบบนาซีไปพร้อมๆ กัน คือการประสาน 2 วัฒนธรรมที่แตกต่างกันสุดขั้วในการแสดงนาฏลีลาชื่อ Hacking Wagner ในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักในอิสราเอล เมื่อผู้อยู่เบื้องหลังการแสดงครั้งนี้คือ ซาร์ มาเกล นักออกแบบท่าเต้นสาวชาวยิว ที่ท้าทายความเกลียดชังผลงานของ ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีชาวเยอรมนีที่มีอยู่ในสังคมอิสราเอลมานับร้อยปี
ไม่เพียงต่อต้านยิว แต่ริชาร์ด วากเนอร์ ยังเป็นศิลปินคนโปรดของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถึงขนาดนำเพลงของเขาไปเชื่อมโยงกับกิจกรรมของนาซี ทำให้บทเพลงของวากเนอร์ไม่เป็นที่ยอมรับในอิสราเอล และถูกแบนจากการแสดงในประเทศครั้งแรกเมื่อปี 1938 เพื่อประท้วงเหตุการณ์ที่กองทัพนาซีบุกกวาดล้างชุมชนชาวยิวกว่า 30,000 คนในเยอรมัน จนวันนี้แม้ไม่มีกฎหมายห้ามการแสดงผลงานของวากเนอร์ในอิสราเอล แต่เพลงของเขากลายเป็นของต้องห้ามในสังคมชาวยิวอยู่เสมอ
Hacking Wagner เลือกเปิดการแสดงใน Haus der Kunst หอศิลป์ที่ฮิตเลอร์เคยใช้เป็นสถานที่เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของนาซี โดยทีมนักเต้นจะแสดงอยู่ในกลุ่มของผู้ชม ด้านหน้าเวทีใช้เป็นที่ฉายวีทีอาร์สารคดีเกี่ยวกับปัญหาการแสดงผลงานของวากเนอร์ในอิสราเอล โดยมีรถเต่าที่สร้างขึ้นมาตามคำสั่งของฮิตเลอร์ ซึ่งยังคงใช้อย่างแพร่หลายในอิสราเอลในวันนี้ประกอบฉาก เป็นการเหน็บแนมสังคมปากว่าตาขยิบที่ยอมรับในสินค้าจากยุคนาซี แต่กลับกีดกันงานศิลปะอย่างไม่เป็นธรรม
ซาร์ มาเกล กล่าวว่า มีชาวอิสราเอลไม่น้อยที่เกลียดชังวากเนอร์โดยอ้างความรู้สึกของเหยื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่บรรพบุรุษของเธอซึ่งล้วนรอดจากการเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี ต่างสนับสนุนการแสดงครั้งนี้ เพราะสำหรับพวกเขาหากมีการแบนคีตกวีที่เกลียดชังชาวยิวทั้งหมด คงเหลือเพลงในศตวรรษที่ 19 ให้ฟังไม่กี่เพลง หากภาษาเยอรมันไม่ใช่ภาษาของนาซี ดนตรีของวากเนอร์ก็ไม่ใช่ดนตรีของนาซี ความงดงามของบทเพลงไม่ควรแปดเปื้อนจากความขัดแย้งที่การเมืองก่อขึ้น