การผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกเข้ากับศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทยได้อย่างลงตัว ในงานลิเก-ลูกทุ่งเยอรมัน สานสัมพันธ์ 150 ปี จัดขึ้นที่มูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน ผลงานของศิษย์เก่าและนักศึกษาภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ที่เริ่มต้นจากการแสดงภายในมหาวิทยาลัย ถูกนำมาแสดงเป็นครั้งที่ 3 โดยแต่งบทและแปลเป็นภาษาเยอรมัน นับเป็นอีกก้าวของการประยุกต์ศิลปะการแสดงของไทยให้มีความหลากหลายมากขึ้น
การร้องบทลิเกเป็นภาษาเยอรมันตั้งแต่ต้นจนจบ และนำนิทานพื้นบ้านเรื่อง อัชเช่นพุทเท่ล (Aschenputtel) หรือซินเดอเรลล่า เทพนิยายคลาสสิกอันเป็นที่รู้จักของผู้ชมทั่วโลก มาดัดแปลงเป็นตัวเรื่องเพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้การแสดงลิเก ทั้งยังรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมอย่างการออกแขกเอาไว้ ต้องใช้ความสามารถทั้งด้านการแสดงและภาษาของผู้จัดเป็นอย่างมาก
ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ ม. ศิลปากร ภคนันต์ ศรีสุข กล่าวว่า ต้องรู้ว่าความเป็นไทยอยู่ตรงไหน ทั้งเรื่องฉันทลักษณ์กับสัมผัส ภาษาเยอรมันโครงสร้างซับซ้อนกว่าภาษาไทยมาก โดยเฉพาะเรื่องการผัน ผันทุกอย่าง
ขณะที่ธีรศักดิ์ อินตรัส ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ ม. ศิลปากร อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ได้เอากลอนแปดของไทยมาเป็นฉันทลักษณ์ว่าส่วนไหนคล้องจองกัน กลอนเยอรมันจะคล้ายกับกลอนภาษาอังกฤษที่มีสัมผัสระหว่างบท แต่ยากตรงที่ต้องหาคำสัมผัส
"คิดถึงลูกทุ่งลุยลาย" ผลงานของนักร้องลูกทุ่งสาวเย็นจิตร พรเทวี นำมาขับร้องเป็นภาษาเยอรมัน โดยยังคงทำนองเพลงดั้งเดิมไว้ หนึ่งในเพลงลูกทุ่งที่เป็นอีกการแสดงบนเวทีที่สร้างความสนุกสนานให้กับซูซาน วอลเทอร์ ผู้ชมชาวเยอรมันที่ไม่เคยเห็นการร้องเพลงลูกทุ่งสดมาก่อน ไม่เพียงมอบความบันเทิง แต่ยังสะท้อนความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาไทย
โดยซูซาน วอลเทอร์ ผู้ชมชาวเยอรมนี กล่าวว่า เคยได้ยินเพลงลูกทุ่งผ่านหูมาบ้างตอนเปิดวิทยุ แต่เพิ่งเคยได้เห็นการนำภาษาเยอรมันมาดัดแปลงในการแสดงของไทยอย่างลิเกและการร้องเพลงลูกทุ่งเป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจว่าสามารถนำภาษาเยอรมันมาเป็นบทร้องและพูดในการแสดงไทยได้เหมือนกัน
"แปลกดี ได้เห็นเด็กๆใช้ความคิดสร้างสรรค์ ส่วนตัวเคยเรียนภาษาเยอรมัน แต่ลืมไปแล้ว ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างแต่ก็สนุกดี" รสลินทร์ ดุรงค์เดช ผู้ชมชาวไทยกล่าว
การนำวัฒนธรรมตะวันตกมาประยุกต์ให้เข้ากับการแสดงลิเก โดยยังคงสามารถรักษาเอกลักษณ์ของไทยไว้ เป็นอีกสเน่ห์ของศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยแขนงนี้
ทั้งนี้งานลิเก-ลูกทุ่งดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 150 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนี