ท่าเต้นคล้ายควบม้าแสนขบขัน ประกอบดนตรีเฮาส์มิวสิคทันสมัย อาจทำให้หลายคนนึกถึงเพลงดังของ แอลเอ็มเอฟเอโอ (LMFAO) วงอิเล็กโทรป็อปที่เคยสร้างกระแสไปทั่วโลกจากเอ็มวีชวนหัว และท่าชัฟเฟอริ่งขวัญใจนักเต้น แต่นี่คือ คังนัม สไตล์ (Gangnam Style) ผลงานล่าสุดของซายนักร้องนักเกาหลีใต้วัย 34 ปี ผู้ใช้อารมณ์ขันที่ไม่เหมือนใครสร้างชื่อในเวลาไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา มีคนเข้าไปชมเอ็มวีตัวนี้บนยูทูปแล้วกว่า 20 ล้านครั้ง และมีการทำเอ็มวีล้อเลียนอย่างแพร่หลาย
ชื่อเสียงของ ซาย(PSY) หรือ ปาร์คเจซัง คือความสำเร็จที่พบไม่บ่อยนักในวงการ K-pop ที่เน้นภาพลักษณ์ เขาเคยถูกปฎิเสธจากโปรดิวเซอร์ที่ชื่นชอบในน้ำเสียงแต่ผิดหวังในรูปร่างหน้าตา กระทั่งท่าเต้นเลียนแบบนกไปโดนใจประธานบริษัทจนนำไปสู่ซิงเกิลเปิดตัวอย่าง เบิร์ด(Bird) ที่สร้างชื่อเขาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2001
ซายซึ่งจบจากสถาบันดนตรีระดับโลกอย่าง เบิกลีย์ สกูล ออฟ มิวสิก (Berkley School of Music) กลายเป็นที่สนใจของวัยรุ่นจากดนตรีทันสมัย แต่เนื้อร้องที่ตรงไปตรงมาเคยถูกแบนในกลุ่มแฟนเพลงอายุต่ำกว่า 18 ปีมาแล้ว ทั้งเส้นทางดนตรีมาสะดุดเมื่อต้องถูกเกณฑ์ทหารถึง 2 ครั้ง ระหว่างปี 2003-2005 และปี 2007-2009
ซายคืนวงการอีกครั้งเมื่อปี 2010 จากการเซ็นสัญญากับค่าย YG Entertainment กระทั่งโด่งดังจากเพลง คังนัม สไตล์ (Gangnam Style) ที่ทำสถิติ ออล คิล (All Kill) หรือซิงเกิลที่คว้าอันดับหนึ่งทุกชาร์ตในเกาหลีใต้ ความสำเร็จครั้งนี้นอกจากได้รับการสนับสนุนจากศิลปินรุ่นน้องในประเทศแล้ว ความโด่งดังของเพลงยังเป็นที่จับตาของสื่อในตะวันตก ทั้ง LA Times, Wall Street Journal, Huffington Post และสกู๊ปของ CNN สร้างการยอมรับในหมู่แฟนเพลงคนดังทั้ง ร็อบบี วิลเลียม, ที เพน, จอช โกรแบน จนล่าสุดได้รับการติดต่อจากตัวแทนของ จัสติน บีเบอร์ เพื่อชักชวนไปร่วมงานกันในสหรัฐฯ อีกด้วย
จีน ลี แฟนเพลงชาวเกาหลีใต้ บอกว่าเอกลักษณ์ในการสร้างความขำขันของซาย มีให้เห็นทุกครั้งที่เขาเปิดการแสดงคอนเสิร์ตให้แฟนเพลง ซึ่งความโด่งดังของ คังนัม สไตล์ (Gangnam Style) นอกจากเป็นเพราะความขำขันของเอ็มวีแล้ว ดนตรีของเขายังติดหูและสร้างความจดจำในเวลาไม่นานนัก
ปัจจุบันวงการเคป็อปกำลังเผชิญกับจำนวนศิลปินวัยรุ่นนักเต้นที่ออกมาอย่างดาษดื่น โดยปี 2011 ที่ผ่านมา วงการเคป็อปมีบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ถึงร้อย 80 ด้วยพื้นที่สื่อซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ศิลปินหลายรายมองหาแนวทางการโปรโมทในต่างประเทศ ซึ่งความสำเร็จของซาย ที่ใช้จุดขายด้านความขบขันสร้างชื่อเสียงระดับสากล นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ค่ายเพลงเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างศิลปินที่ไม่ได้เน้นจุดขายด้านภาพลักษณ์แต่เพียงอย่างเดียว