นักเศรษฐศาสตร์ชี้
บัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวี เป็นหนึ่งในโครงการประชานิยม ของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้เครดิตเติมแก๊สและส่วนลดเอ็นจีวี 2 บาทต่อกิโลกรัม วงเงิน 3,000 บาทต่อเดือน และส่วนลดแบบจ่ายเป็นเงินสดอีก 6,000 บาท รวมส่วนลด 9,000 บาทต่อเดือน ใช้ได้กับสถานีบริการเอ็นจีวี 189 แห่งในกรงเทพฯและปริมณฑล แต่โครงการช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา อารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.กระทรวงพลังงาน ยอมรับถึงความล้มเหลว และวางแนวทางปรับปรุงใหม่ทั้งหมด
แม้จะยอมรับว่ามีปัญหา แต่กระทรวงพลังงานเตรียมเปิดโครงการบัตรเครดิตพลังงานรอบสอง ให้ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ได้แก่ แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก รถตู้โดยสาร ขสมก. และเพิ่มกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่กรุงเทพ ซึ่งจะใช้บัตรนี้ลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลิตรละ 3 บาท โดยตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้บัตร 100,000 คน
ศ.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยหากจะอุดหนุนราคาแก๊สให้แท็กซี่ ก็ควรใช้วิธีลดราคาโดยตรง ไม่ต้องจัดทำบัตร ส่วนระยะเวลาการใช้บัตรที่ขึ้นอยู่กับอายุรัฐบาล เห็นชัดเจนว่าไม่ยั่งยืนและเป็นโครงการหวังผลทางการเมือง ซึ่งการอุดหนุนทั้งหมด ทำให้ภาระตกอยู่กับผู้เสียภาษี
ผู้ขับแท็กซี่ที่ร่วมโครงการโครงการบัตรเครดิตพลังงานรอบแรกได้รับบัตร 2 ใบ คือบัตรเครดิตประจำตัวผู้ขับ และบัตรส่วนลดเอ็นจีวี แต่ความไม่สะดวก และผู้ถือบัตรบางคนถูกตัดสิทธิ์ เพราะไม่ชำระหนี้ ทำให้ขณะนี้ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะบัตรส่วนลดเพียงใบเดียว
ยอดใช้บัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวีเพียงวันละ 10 ใบ จากแท็กซี่ที่มาเติมก๊าซที่ปั๊มแห่งนี้ 400 คัน/วัน เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าบัตรเครดิตพลังงานไม่ได้รับความนิยมมากนัก ซึ่งผู้ขับแท็กซี่บางส่วนบอกว่า เคยทดลองใช้บัตรมาแล้ว แต่ไม่สะดวกที่ต้องชำระเงินที่ธนาคารตามกำหนดของรอบบิล จึงถูกตัดสิทธิ์ไป ขณะที่บางคนมีบัตรแต่ยังไม่เคยใช้
ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ถือบัตร 27,000 ใบ จากเป้าหมาย 75,000 ใบ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าร้อยละ 85 ของผู้ใช้ถูกตัดสิทธิ์ เพราะไม่ได้ติดต่อชำระหนี้กับธนาคาร คิดเป็นหนี้ค้างสะสม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน กว่า 8 ล้านบาท ขณะที่ ข้อมูลด้านงบประมาณทางโครงการไม่เปิดเผยและไม่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน เช่น งบประมาณประชาสัมพันธ์ ค่าเช่าสถานที่รับสมัคร ค่าธรรมเนียมการรูดบัตรเครดิต