ครม.ปรับขึ้นภาษีเหล้า - บุหรี่ เพิ่มรายได้ปีละ 10,000 ล้านบาท
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นให้กรมสรรพสามิตปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุรา และยาสูบ โดยสุราขาวเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 120 บาทต่อลิตร ให้ปรับเป็น 150 บาทต่อลิตร และสุราผสม จาก 300 บาทต่อลิตร เป็น 350 บาทต่อลิตร สุราบรั่นดีเก็บ 400 บาทต่อลิตร เต็มเพดานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถ้าคิดเป็นอัตราการเก็บภาษีตามมูลค่า หรือตามปริมาณของสินค้าหรือบริการ จะเก็บที่ร้อยละ 50 ในทุกชนิดสุรา
ส่วนการขึ้นภาษีบุหรี่ปัจจุบันเก็บตามราคาหน้าโรงงาน ร้อยละ 85 จะเปลี่ยนเป็นเก็บตามปริมาณบุหรี่ในซอง คือ 1 มวน 1 บาท ทำให้บุหรี่ทุกซองต้องเสียภาษีสรรพสามิตอย่างน้อยซองละ 20 บาท การเก็บภาษีบุหรี่มวนละ 1 บาท จะทำให้บุหรี่ที่เคยจำหน่ายในราคาต่ำ และเสียภาษีน้อย ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นซองละ 6-8 บาท
นางเบญจา หลุยส์เจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การขึ้นภาษีสุรา ยาสูบครั้งนี้ จะทำให้กรมสรรพสามิตมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 10,000 ล้านบาท โดยให้มีผลทันที
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุราเห็นด้วยกับมาตรการขึ้นภาษีสรรพสามิตของรัฐบาล เพราะจะทำให้นักดื่มปัจจุบัน และผู้ไม่เคยดื่มมีความรู้สึกอยากดื่มลดลง โดยจากการคำนวณแล้ว สุราขาวจะแพงขึ้นขวดละ 7 บาท 50 สตางค์ ส่วนสุราผสมจะปรับขึ้นขวดละ 12 บาท 25 สตางค์
ทั้งนี้ อัตราเรียกเก็บจากสุราขาวยังคงอยู่ต่ำกว่าเพดานภาษีถึงลิตรละ 250 บาท และมีราคาต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ และต่ำกว่ามาตรฐานโลกร้อยละ 30-40
นพ.ทักษพลยังแนะว่ารัฐบาลควรปรับเพดานภาษีสรรพสามิตสุราใหม่ทั้งหมด เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดภาระค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ และสุราเรื้อรัง
นายสมชัย จิตสุชน นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่าการขึ้นภาษีโดยที่ไม่ประกาศก่อนถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อรัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แม้จะเล็กน้อย หากเทียบกับการเลือกขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT แต่รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นเพื่อชดเชยรายจ่ายที่รัฐบาลนำไปใช้ในโครงการประชานิยม
คณะรัฐมนตรีระบุว่าการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นไปตามแผนรณรงค์ลด ละ เลิกสุรา และบุหรี่ที่มีการดำเนินการมาในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเหตุผลที่ไม่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นภาษีมาก่อนเพราะต้องการลดปัญหาการกักตุนสินค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับประชาชน ปัจจุบันมีผู้บริโภคสุรา 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ หรือไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน