จากดักแด้กลายเป็นผีเสื้อที่งดงาม ก่อนจะให้กำเนิดชีวิตใหม่ และตายไป ไม่ต่างจากชีวิตมนุษย์ที่ต้องผ่านการเกิด และตาย แสดงผ่านการใช้เส้นผมที่ร่วงหล่นอยู่ตลอดเวลามาทำเป็นตัวผีเสื้อ เริ่มต้นจากการสังเกตเส้นผมของตนเองที่หล่นอยู่ตามหมอน และพื้นที่บ้าน ตั้งใจเก็บสะสมมาเรื่อยๆ เพื่อนำมาทำงานศิลปะ
หากครั้งนี้ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ไม่ได้ใช้เส้นผมของตนเองเหมือนที่ผ่านมา แต่นำเส้นผมของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ร่วงจากการทำเคมีบำบัด และเส้นผมที่บริจาคให้ผู้ป่วยโรงมะเร็ง มาสร้างเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ Hair for Hope : The New Beginning ไม่เพียงแสดงความเห็นใจต่อผู้ป่วย หากการใช้เส้นผมของพวกเขาก็เพื่อเป็นความทรงจำถึงพ่อที่เสียชีวิตไปด้วยโรคนี้
อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ศิลปิน กล่าวว่า ตอนนั้นพ่อเค้าตั้งใจไว้ผมยาว แล้วตัดผมเพื่อมอบให้ลูก 4 คน เหมือนว่าเส้นผมที่มอบให้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อ เป็นที่ระลึก ตัวแทนเขา
ความสวยงาม และอ่อนหวาน หากอีกด้านก็บอบบางของผีเสื้อ และดอกไม้ ถูกตีความผ่านการใช้วัสดุในงานนิทรรศการครั้งนี้ ความเปราะบางของผีเสื้อแสดงผ่านโครงสร้างของตัว และปีกที่ทำจากแก้ว แล้วใช้เส้นผมมาถักเป็นลวดลายก่อนมัดติดกับโครง
กว่าจะเป็นผีเสื้อหนึ่งตัว ศิลปินต้องเริ่มจากการร่างภาพคร่าวๆ ก่อน หลังจากนั้นค่อยขึ้นโครงส่วนปีกของผีเสื้อ แล้วตกแต่งลวดลายเพิ่มเติมทีหลัง ซึ่งลวดลายทั้งหมดศิลปินนำเทคนิคการถักโครเชต์มาใช้
นำหัวเข็มพันด้ายก่อน 1 ครั้งแล้วค่อยๆ ดึง ก่อนจะถักออกมาเป็นลายโซ่ คือเทคนิคที่เรียกว่าพัน 1 ครั้ง หรือ พ 1 ค เทคนิคอย่างหนึ่งของการถักโครเชต์ที่ศิลปินนำมาใช้ถักเส้นผม ขณะที่ลวดลายรูปวงกลม ศิลปินใช้วิธีการขมวดผมแล้วมัดให้เป็นรูปร่างก่อน แล้วจึงค่อยนำมาตกแต่งปีกผีเสื้อ แม้จะชำนาญการถักโครเชต์จากการทำงานอดิเรก หากการถักเส้นผมแทนไหมพรมอย่างปกติเพื่อนำมาทำงานศิลปะ ต้องผ่านการลองผิดลองถูกกว่าจะเจอเทคนิคที่พอใจ
อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ศิลปิน กล่าวว่า เพราะผมมีความยาวจำกัด จะให้ต่อเนื่องยาวเหมือนไหมพรม เส้นด้าย ก็ต้องมัดต่อกันทีละเส้น ทั้งหมดใช้มือมัด จับมาทีละ 2 เส้น มัดรวบแล้วต่อให้ยาวขึ้นเรื่อยๆ เทคนิคที่ใช้ไม่ใช่แค่ต่อผม มีทั้งถักเพื่อเชื่อมเป็นเส้นยาว ที่ไม่ได้ใช้การมัดก็มี