<"">
ระบบการเมือง หรือโครงสร้างการเมืองรูปแบบใหม่ ไม่เพียงเป็นเงื่อนไขให้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลเสียหาย และด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงมุ่งหวังให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯพิจารณาแก้ไข เพิ่มน้ำหนักในข้อเสนอ ก่อนสรุป 10 ประเด็นหลัก เพื่อจัดทำเป็นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้ตกลงที่จะเสนอญัตติคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกร่วมกัน ด้วยเหตุผลเพื่อให้การแปรญัตติมีน้ำหนักมากขึ้น
เบื้องต้นกำหนดแล้ว 10 ประเด็นที่จะจัดทำเป็นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยทั้ง10 ประเด็นนี้ครอบคลุมเนื้อหาในทุกส่วนของร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เรื่องกลุ่มการเมือง, ระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสม, ที่มาวุฒิสภา, ที่มานายกรัฐมนตรี, กลไกพิเศษในการขอไว้วางใจและการเสนอกฎหมายของรัฐบาล, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ, คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม, คณะกรรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ และข้อเสนอให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 2 คณะยังยืนยันในความเป็นอิสระที่จะจัดทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกนี้ และพร้อมจะไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่มีการพิจารณาแก้ไขอันควรคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา ที่ไม่เพียงแค่เรื่องการเมือง แต่จะหมายถึงทุกบริบทที่เกี่ยวข้องบ้านเมือง และประเทศชาติโดยรวม