ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทางรอดเทศกาลภาพยนตร์ "เวนิส" ต้องเพิ่มเวทีซื้อขายภาพยนตร์

Logo Thai PBS
ทางรอดเทศกาลภาพยนตร์ "เวนิส" ต้องเพิ่มเวทีซื้อขายภาพยนตร์

การต้องแข่งขันกับเทศกาลภาพยนตร์น้องใหม่ที่มาแรงทุกปี และต้องต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อภาพยนตร์ที่ร่วมในงาน ทำให้ผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสปีนี้เพิ่มเวทีซื้อขายภาพยนตร์ เพื่อให้เทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนี้ ยังคงเป็นที่สนใจของวงการภาพยนตร์โลกต่อไป

แม้ยังมีดาราดังมาร่วมงานเปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 69 อย่างคับคั่ง แต่การขาดหายของซูเปอร์สตาร์ระดับแม่เหล็กทั้ง จอร์จ คลูนีย์ แองเจลินา โจลี และ จอห์นนี เด็ปป์ ที่เคยมาร่วมงานเมื่อปีที่แล้ว คือ สัญญาณของวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อวงการภาพยนตร์ในยุโรป เมื่อผู้สร้างประสบปัญหาในการจ้างดาราดัง ๆ มาเป็นตัวชูโรง จนกระทบต่อสีสันของเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งฉลองการก่อตั้งเป็นปีที่ 80 ในครั้งนี้

ทุกวันนี้เทศกาลภาพยนตร์เวนิซ ต้องรักษาสถานภาพการเป็น 1 ใน 3 เทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำของโลก หลังถูกท้าทายโดยการมาถึงของเทศกาลภาพยนตร์น้องใหม่ ทั้งจากโตรอนโตที่จัดใกล้เคียงกันในเดือนกันยายน และ ประสบความสำเร็จมากกว่าด้านรายได้ รวมถึงเทศกาลภาพยนตร์กรุงโรม ซึ่งจัดช่วงเดือนตุลาคมที่เพิ่งจะดึงตัว มาร์โค มูเอเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเทศกาลคนเก่าของเวนิซไปบริหารงานในปีนี้

อัลแบร์โต บาร์เรร่า ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์เวนิซคนปัจจุบัน กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมากที่สุดคือผู้ทำหนังศิลปะที่ขาดคนสนับสนุน ทุนสร้าง และ การจัดจำหน่ายในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ทางเทศกาลจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบให้งานไม่เป็นเพียงเวทีประกวดหนัง แต่ยังให้มีการซื้อขายภาพยนตร์เพื่อให้เทศกาลหนังเก่าแก่นี้ ดึงดูดบุคลากรจากวงการภาพยนตร์โลกมากขึ้น

สิ่งที่นำมาสร้างสีสันให้ เวนิซ ปีนี้คือคุณภาพหนัง ตั้งแต่ผลงานเปิดเทศกาลอย่าง Reluctant Fundamentalist ของ มิรา แนร์ ผู้กำกับหญิงชาวอินเดียผู้โด่งดังจากสลัมบอมเบย์ หนังเล่าถึงชายปากีสถานที่ชีวิตกำลังไปได้สวยทั้งด้านการงานและความรักในสหรัฐฯ ก่อนต้องพลิกผันหลังเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิล์ดเทรด สะท้อนความรู้สึกแปลกแยกของชาวเอเชียในสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ 11 กันยา

ขณะผลงาน 18 เรื่องที่ร่วมชิงสิงโตทองคำปีนี้ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างมาก ทั้ง Superstar หนังฝรั่งเศสที่เล่าถึงชีวิตหนุ่มหาเช้ากินค่ำที่กลายเป็นคนดังเพียงข้ามคืนเพราะอยู่ในสคริป์ของรายการเรียลิตี้ โชว์ ตัวแทนจากอิตาลีอย่าง Dormant Beauty ที่เล่าถึงชีวิตของ เอลูอาน่า อังกลาโร่ เจ้าหญิงนิทราจากอุบัติเหตุที่เป็นประเด็นถกเถียงถึงสิทธิในการตายของผู้ป่วยที่เกินเยียวยา และตัวแทนของสหรัฐฯ อย่าง The Master ซึ่งเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ก่อตั้งลัทธิและผู้ช่วยที่เริ่มสั่นคลอนในศรัทธา ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนังที่สร้างมาจากชีวิตของ แอล. รอน ฮับบาร์ด ผู้สถาปนาลัทธิไซแอนโธโลจี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง