ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผืนป่าตะวันตกกับสืบ นาคะเสถียร

1 ก.ย. 55
15:25
376
Logo Thai PBS
ผืนป่าตะวันตกกับสืบ นาคะเสถียร

เมื่อเอ่ยถึง สืบ นาคะเสถียร คนส่วนใหญ่ก็คงจะนึกถึงผืนป่าห้วยขาแข้ง แต่อันที่จริงแล้วแนวทางสำคัญ ที่สืบ นาคะเสถียรวางไว้ ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ห้วยขาแข้งเท่านั้น แต่คือ การสร้างกลุ่มผืนป่าตะวันตก โดยมีห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นแกนกลาง แล้วผืนป่าโดยรอบก็จะฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา ผ่านมา 22 ปี พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของสืบเป็นจริง โดยเฉพาะที่ป่าแม่วงก์ ที่ฟื้นคืนสภาพป่าสมบูรณ์ แต่ไม่แน่ว่าเราอาจจะต้องเสียป่าผืนนี้ไป จากการผลักดันโครงการเขื่อนแม่วงก์ ตามนโยบายการแก้ปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐ

ภาพของเสือโคร่งแม่-ลูก ที่บันทึกได้ด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ในป่าใกล้บริเวณพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บ่งบอกชัดเจนถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ในวันนี้

<"">

จากการติดตามศึกษาของกองทุนสัตว์ป่าสากล เชื่อว่าแม่เสือโคร่งตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่เคยบันทึกภาพได้ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อปี 2554 ซึ่งห่างจากจุดนี้ไปราว 40 กม. สะท้อนถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงของผืนป่าแม่วงก์กับห้วยขาแข้ง

ชัชวาลย์ พิศดำขำ ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุทัยธานี อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เล่าถึงการเข้ามารับหน้าที่ต่อจากสืบ นาคะเสถียร ซึ่งเป็นแรงกดดัน ทำให้เขาต้องศึกษาผลงานของสืบ และพบว่าก่อนจบชีวิต สืบ เขียนงานที่สำคัญไว้ 2 ชิ้น หนึ่งคือแผนแม่บทการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้ง และสอง เอกสารนำเสนอมรดกโลก ซึ่งชิ้นนี้สืบเปิดประเด็นการมองป่าแบบกลุ่มป่า หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าผืนป่าตะวันตก โดยเน้นการรักษาป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ซึ่งจะช่วยให้ป่าโดยรอบคืนความอุดมสมบูรณ์ตามมา

<"">
<"">

การพบเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่า อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เป็นดรรชนีชี้วัดว่า ป่าแม่วงก์มีอาหารและความปลอดภัย ทั้งป่าที่ฟื้นตัว และสัตว์ป่าที่ขยายพันธุ์ กระจายตัวมาจากห้วยขาแข้ง ตามที่สืบได้วาดหวังไว้

ในมุมของนักนิเวศวิทยา เห็นว่า จากการสานต่อทฤษฎีผืนป่าตะวันตกของสืบ นาคะเสถียร ส่วนที่ดีที่สุดต่อการกระจายของชนิดพันธ์สัตว์ป่าและพืช ก็คือป่าทางตอนเหนือของห้วยขาแข้ง โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แต่เหตุการณ์อุทกภัยใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลปัดฝุ่นโครงการเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ผืนป่านี้ส่วนหนึ่งต้องถูกทำลายไป แม้รัฐบาลบอกว่าจะมีแนวทางการอพยพสัตว์ป่า และปลูกป่าทดแทน แต่ก็เป็นสิ่งที่สืบเคยปรารภไว้ว่า ไม่มีประโยชน์

โครงการเขื่อนแม่วงก์ ได้กลายเป็นความกังวลของกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่เห็นว่ายังมีทางเลือกในการจัดการน้ำ ที่ดีกว่าการสร้างเขื่อนแห่งนี้ เพราะพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ ของผืนป่าตะวันตก ไม่ได้มีความสำคัญเพียงเพราะ สืบ นาคะเสถียร ใช้ชีวิตตน เรียกร้องให้สังคมเหลียวแล แต่ทุกวันนี้ ผืนป่าตะวันตกเป็นที่ยอมรับแล้วว่า คือผืนป่าใหญ่ที่สำคัญที่สุดในเอเชียในอาคเนย์ และมีความสำคัญระดับโลก ขณะที่การบุกรุกทำลายป่าก็ยังไม่หยุดหย่อน จนเหลือผืนป่าที่เป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิตอยู่เพียงน้อยนิด สังคมจึงไม่ควรลืมคำของสืบ ที่เคยพูดไว้ว่า

"เราไม่ต้องมาเสียเวลานั่งเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมาก จนไม่ควรใช้" 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง