ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รณรงค์อนุรักษ์ "ป่าสมุนไพร" มหาสารคาม 17 ตำรับ

สังคม
2 ก.ย. 55
13:55
921
Logo Thai PBS
รณรงค์อนุรักษ์ "ป่าสมุนไพร" มหาสารคาม 17 ตำรับ

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ-สสส. เปิดศูนย์เรียนรู้ป่าเชียงเหียน จ.มหาสารคาม หนุนชุมชนนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้สมุนไพรดูแลสุขภาพ อนุรักษ์ตำรับยาพื้นบ้านได้ 17 ตำรับ พืชสมุนไพรอีก 57 ชนิด เผยชาวบ้านในพื้นที่มีสารเคมีตกค้างในเลือด 25% ชี้เกิดจากสารเคมีการเกษตร

 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ป่าเชียงเหียนเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ วัดป่าประชาสโมสรบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม ว่าการพัฒนาป่าให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านเชียงเหียนเป็นเรื่องที่ดี เป็นต้นแบบการปลูกป่า และเป็นแหล่งเรียนรู้การดูแลสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น  โดยแบ่งพื้นที่ป่า 3 ลักษณะ คือ1.ป่าสมุนไพรตำรับบ้านเชียงเหียน 2.ป่าเชิงนิเวศ และ3.ป่าสมุนไพรเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ป่าสมุนไพรตำรับบ้านเชียงเหียนและป่าเชิงนิเวศ อยู่ในช่วงเจริญเติบโต ต้องอาศัยเวลา 5-15 ปีขึ้นไป ส่วนป่าสมุนไพรเศรษฐกิจใช้สำหรับขายยาสมุนไพรของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีการปลูกทดแทนทุกครั้งโดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านดูแล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนสมุนไพรขึ้น

 
ดร.อุษา กลิ่นหอม อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  กล่าวว่า  บ้านเชียงเหียงเป็นชุมชนที่มีการเก็บยาสมุนไพรขายมานานกว่า 70 ปี โดยไม่มีการปลูกทดแทน ฟื้นฟู หรือการอนุรักษ์พืชสมุนไพร ทำให้สมุนไพรในป่าธรรมชาติและป่าของชุมชนลดน้อยลง หาเก็บขายได้ยากขึ้น บางชนิดสูญหายไปจากพื้นที่ จนกระทั่งในปี 2550 ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิสุขภาพไทย และการสนับสนุนจาก สสส. แผนงานพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเพื่อการพึ่งพาตนเองของชุมชน และแผนงานสร้างเสริมระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ดำเนินการทดลองปลูกป่าสมุนไพรในพื้นที่ของวัดป่าประชาสงเคราะห์ กว่า 30 ไร่ รวบรวมความรู้และปลูกพืชสมุนไพรรักษาโรคตามตำรับยาพื้นบ้านได้ 17 ตำรับ อนุรักษ์สมุนไพรมากถึง 57 ชนิด
 
น.ส.ชุติกาญจน์ ปิยะศิลปะ หัวหน้างานแพทย์แผนไทย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สสจ.มหาสารคาม ได้ให้บริการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือด การให้คำปรึกษา และจ่ายยาสมุนไพรคือ ชาใบรางจืดเพื่อใช้ล้างพิษ ซึ่งผลจากการตรวจค้นหาสารเคมีตกค้างในเลือด พบชาวบ้านมีสารเคมีตกค้างมากถึง 25% โดยกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด จากการใช้ยาฆ่าแมลงปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี 
 
น.ส.ชุติกาญจน์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า การดื่มชาใบรางจืดเช้า-เย็น มื้อละ 1 แก้ว ติดต่อ 1 เดือน จะช่วยลดปริมาณสารเคมีสะสมในกระแสเลือดลงได้ หรือผู้ที่ไม่มีสารเคมีอยู่ในระดับอันตรายก็ยังสามารถดื่มได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นการดื่มเพื่อสุขภาพ ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือต้องกินยาประจำ ควรหลีกเลี่ยงไม่กินชารางจืดพร้อมกับยา เพราะจะดูดเอาฤทธิ์ยาออกมาด้วย เช่น กินยามื้อเช้า ให้กินชารางจืดมื้อกลางวันแทน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง