โดยตลอด 2 วันที่ผ่านมา ส.ว.อภิปรายซักถามรายละเอียดงบสำรองจ่ายฉุกเฉินและงบในการพัฒนาแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกำชับการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่ารัดกุม และเสนอตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ
สรุปสาระสำคัญของการอภิปรายพิจารณารายละเอียดของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 จำนวน 2,400,000 ล้านบาทของวุฒิสภาตลอด 2 วันที่ผ่านมา จะเห็นว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะจะเน้นย้ำให้รัฐบาลเคารพระเบียบวินัยการเงินการคลัง และย้ำให้การใช้จ่ายในแต่ละโครงการควรวางรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะไม่เพียงป้องกันปัญหาการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการวางระบบให้โปร่งใสและง่ายต่อการติดตามประเมินผล รวมถึงตรวจสอบการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะงบสำรองจ่ายฉุกเฉิน
นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบปี 56 ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลอาจจงใจเลี่ยงการตรวจสอบ ด้วยการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ใน งบกลางและงบสำรองจ่ายฉุกเฉิน ซึ่งยังไม่นับรวมเงินนอกงบประมาณ
เช่นเดียวกับประสิทธิภาพในทางปฏิบัติของการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กลายเป็นความเคลือบแคลงสงสัย เพราะจากร่างกฎหมายมีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณไว้เป็นจำนวนมาก แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ ซึ่งนายสุริยา ปันจอร์ ส.ว.จังหวัดสตูล เสนอให้ทบทวนการพิจารณาทั้งเม็ดเงินงบประมาณและทรัพยากรบุคคลเพื่อความรับผิดชอบที่สูงขึ้น
ก่อนหน้านี้ สภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลาในการอภิปรายและลงมติ ทั้งวาระ 2 และ 3 เพื่อเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ รวม 3 วันหรือ 44 ชั่วโมงด้วยกัน โดยสาระสำคัญของข้อสังเกตจากการอภิปราย ส่วนใหญ่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะท้วงติดเรื่องรายละเอียดของการใช้จ่ายงบสำรองจ่ายฉุกเฉิน เพื่อการบริหารจัดการน้ำและดำเนินโครงการที่ไม่มีการกำหนดกรอบให้ชัดเจน นอกจากนั้นยังอภิปรายเสนอแนะการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ควรทบทวนความคุ้มค่า
สำหรับวุฒิสภา ใช้เวลาในการอภิปรายและลงมติในร่างกฎหมายฉบับนี้ รวม 2 วันหรือมากกว่า 25 ชั่วโมง พร้อมคาดการณ์ลงมติให้ความเห็นชอบภายในเวลา 23.00 น.คืนนี้ ( 4 ก.ย.) ก่อนนำส่งกลับให้รัฐบาลขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมและให้มีผลบังคับใช้ทันกรอบเวลาวันที่ 1 ต.ค.นี้