สธ. เผย สถิติคนไทยฆ่าตัวตายวันละ 10 คน ชี้ โรคซึมเศร้า สาเหตุหลัก
นพ.อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานตลาดนัดรณรงค์ความรู้แก่ประชาชน เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายของโลก ภายใต้แนวคิด " คนไทยยุคใหม่ กำลังใจเกินร้อย" ว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย คือ ปัญหาที่สำคัญของประเทศ และทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายวันละ 10 คน หรือประมาณปีละ 4,000 คน และถึงแม้ว่าในปี 2554 จะมีคนฆ่าตัวตาย จำนวน 3,873 คน ซึ่งถือว่าลดลง แต่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้
ทั้งนี้ กลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ในไทย เป็นกลุ่มแรงงาน อายุตั้งแต่ 20-40 ปี และเพศชายฆ่าตัวตายสำเร็จได้มากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า ซึ่งจากสถิติ กลุ่มวัยรุ่นมักจะฆ่าตัวตาย เพราะอามรมณ์ชั่ววูบ ใจร้อน เมื่อมีสิ่งที่มากระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง เช่น เรื่อง เรียน ครอบครัว หรือ สัมพันธภาพ ในขณะที่ทั่วโลก กลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายมักเป็นผู้สูงอายุ
นพ.อภิชัย กล่าวว่า การเป็นโรคซึมเศร้า ถือเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับที่ 1 เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะอ่อนไหว กับรอบข้างกระทบต่อจิตใจได้มากกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้ ยังมาจากความเครียด ปัญหาสังคม และสภาพเศรษฐกิจ และความคาดหวังกับสิ่งต่าง ๆ มากเกินไป
อย่างไรก็ตาม นพ.อภิชัย ระบุว่า การฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ โดยให้สังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้าง ว่าผิดปกติจากแต่ก่อนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะคนกลุ่มนี้จะต้องการระบาย เพื่อให้สบายใจขึ้น
ขณะที่ นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า การฆ่าตัวตายนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ตายเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ส่งผลถึงคนรอบข้างอย่างน้อย 5 คน คือ พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท และคนรัก ในขณะที่ทั่วโลกนั้น ทุก ๆ 40 วินาที จะมีคนฆ่าตัวตาย 1 คน ทำให้ทั่วโลกต้องสูญเสียเงินประมาณ 5,500 ล้านบาทต่อปี เพื่อดูแลผู้ที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จและพิการ ตลอดจนการต้องเข้าไปดูแลรักษาในเรื่องของสภาพจิตใจทั้งผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย และคนรอบข้างด้วย
ด้าน มีสุข แจ้งมีสุข ผู้ประกาศข่าว และพิธีกร เห็นว่า การเป็นผู้ฟังที่ดีให้กับผู้ที่กำลังสิ้นหวังนั้น หรือคิดที่จะฆ่าตัวตาย ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งต้องใช้ความจริงใจ และความอดทนในการพูดคุย ขณะที่ พิง ลำพะเพลิง นักเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งมีประสบการณ์เคยคิดฆ่าตัวตาย หลังรู้สึกผิดว่าเป็นสาเหตุทำให้ภรรยาเสียชีวิต ระบุว่า สิ่งที่สำคัญ คือ ทุกคนควรให้อภัยในสิ่งที่ทำผิดพลาดไป และต้องอดทนจนกว่าจะผ่านช่วงเวลานั้นได้