สำเนียงไพเราะแต่แฝงด้วยความลึกลับของไมค์ โอล์ฟีล ดนตรีรื่นหูของ Wish You Were Here เพลงอคูสติกอมตะของ Pink Floyd จนถึงการแสดงของ Muse นักดนตรีรุ่นใหม่ ล้วนได้แรงบันดาลใจจากดนตรียุค 70 เสน่ห์ของโปรเกรสซีฟ ร็อก ยังสร้างความอลังการในพิธีเปิดโอลิมปิก บอกถึงการให้ความสำคัญต่อดนตรีที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นที่มาของรางวัล Progressive Music Awards ซึ่งมอบให้แก่นักดนตรีที่สร้างสรรค์ผลงานเพื่อศิลปะอย่างแท้จริง
เอกลักษณ์ของโปรเกรสซีฟ ร็อก คือเนื้อหาดนตรีที่สลับซับซ้อน การบรรเลงที่รวดเร็วและยาวนาน หากยังเต็มเปี่ยมด้วยความไพเราะ ความซับซ้อนจนผู้ฟังตามไม่ทัน ทำให้ดนตรีที่เรียบง่ายกว่าอย่างพังค์ ร็อก ครองใจผู้ฟังมากกว่า แม้โปรเกรสซีฟ ร็อก จะเสื่อมความนิยมตั้งแต่ยุค 80 เป็นต้นมา แต่เมล็ดพันธุ์ทางดนตรีก็ยังคงงอกงามผ่านผลงานของศิลปินรุ่นหลังที่นำ สำเนียงดนตรียุค 70 มาปรับใช้กับผลงานของตนจนประสบความสำเร็จมากมาย
Progressive Music Awards ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนโดยนิตยสาร Prog Magazine เป็นการรวมตัวของตำนานเพลงโปรเกรสซีฟ ร็อกที่มาร่วมรับรางวัลมากมาย ทั้ง Genesis อดีตวงของปีเตอร์ แกเบรียล และฟีล คอลลินส์ ซึ่งมารับรางวัลใหญ่สุดของงาน Lifetime Achievement วง Rush ที่ยังคงรักษาคุณภาพงานมาตลอด 4 ทศวรรษคว้ารางวัลอัลบั้มแห่งปีจากผลงานชุดล่าสุด Clockwork Angels
คาร์ล พาล์เมอร์ แห่ง ELP คว้ารางวัล Virtuoso จากฝีมือการตีกลองอันเป็นต้นแบบ โดยมี ริค เวคแมน มือคีย์บอร์ดของ Yes เจ้าของรางวัลเทพเจ้าแห่งโปรเกรสซีฟ ร็อก กล่าวว่าหัวใจของดนตรีแนวนี้คืออิสรภาพการแสดงออกทีไม่พบในดนตรีในกระแส
และเมื่อมองศิลปินในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแทบไม่มีใครไม่ได้รับอิทธิพลจากโปรเกรสซีฟ ร็อก เจอร์รี่ อิววิง บรรณาธิการของ Prog Magazine กล่าวว่า ดนตรีโปรเกรสซีฟ ร็อก ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อพิจารณาจากคุณค่าของผลงานที่สร้างความสุขให้กับแฟนเพลงนับล้านทั่ว โลกตลอด 40 ปี การจัดรางวัล Progressive Music Awards ถือเป็นการตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ให้กับศิลปินผู้มอบงานศิลปะอันยิ่งใหญ่แก่วงการเพลง