ส่องสื่อในพื้นที่ความขัดแย้ง
บ่อยครั้งที่ข้อจำกัดในการลงพื้นที่ ทำให้ข่าวเคลื่อนไปจากความจริง การทำงานของสื่อมวลชนจึงถูกนำมาทบทวนในงานเสวนาส่องสื่อผ่านมลายูมุสลิมชายแดนใต้ โรฮิงญา และบทเรียนจากสื่อในติมอร์ตะวันออกถึงอาเจะห์
แม้เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ แต่แยน๊ะ สะแลแม ก็ลุกขึ้นมา เป็นตัวกลางประสานความเข้าใจ 2 ฝ่าย เรื่องราวในภาพยนตร์สารคดี "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง" ที่นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้ผลิตสารคดีตั้งใจให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้สึกของคนในพื้นที่ซึ่งไม่มีโอกาสได้พูด หลังออกสำรวจหาข้อมูลแล้วพบว่าการนำเสนอเรื่องปัญหาภาคใต้มักจะมาจากความเข้าใจของคนส่วนกลางมากกว่าคนในพื้นที่ การทำงานของสื่อกับปัญหาชนกลุ่มน้อยจึงนำเป็นประเด็นเสวนา ส่องสื่อผ่านมลายูมุสลิมชายแดนใต้ โรฮิงญา และบทเรียนจากสื่อในติมอร์ตะวันออกถึงอาเจะห์
ในฐานะประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย" ในสายตาของพม่า โรฮิงญาจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง และไร้สิทธิเป็นพลเมือง ทั้งยังห่างไกลจากการรับรู้ของสื่อซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐบาลพม่า ภาพข่าวชาวโรฮิงญาที่คนภายนอกรับรู้มาจากการนำเสนอของสื่อภายนอกพม่า
ปัญหาที่พบบ่อยครั้งในการทำหน้าที่ของสื่อในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้ง คือข้อจำกัดด้านเวลา และความปลอดภัย หลายครั้งต้องอาศัยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว จึงทำให้ข่าวอาจเกิดความคลาดเคลื่อน การที่สื่อมีโอกาสได้นำเสนอข่าวได้อย่างรอบด้าน และต่อเนื่องจะช่วยสร้างความเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหา และเป็นเครื่องมือช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง