“นิทานปลาสายรุ้ง” เรื่องราวการผจญภัยของฝูงปลาในมหาสมุทรใหญ่ ที่ถ่ายทอดผ่านถ้อยคำ เรียงร้อยเรื่องราวได้อย่างสดใส น่ารัก ผ่านการแสดงออกอย่างฉะฉาน ของ “น้องโฟล์ค” หรือ ดช.ยศรักษ์ ขำสุวรรณ เด็กชายวัย 7 ขวบ ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ “อ่านอย่างไรกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาลูกรัก โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คงทำให้คุณแม่หลายๆ ท่านสนใจในความเป็นมาเป็นไปว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างจิตนาการ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กได้เท่านี้
ด้วยรางวัลการันตีของน้องโฟล์ค เด็กชายตัวเล็กกับรางวัลชนะเลิศการเล่านิทานระดับประเทศ “ป้าแนน” หรือ “วัฒนาวดี พุ่มไชย” ผู้ปกครองน้องโฟล์คหนึ่งในเบื้องหลังการเติบโตอย่างก้าวหน้า เล่าให้ฟังว่า น้องโฟล์คถือว่าเป็นเด็กที่โชคดีมาก เพราะครอบครัวเราทำงานกับหนังสือ มีห้องสมุด มีสื่อหลากหลายแวดล้อมรอบตัว และที่สำคัญทุกคนในครอบครัวเป็นนักอ่าน ด้วยเหตุนี้จึงสร้างนิสัยและปลูกฝังให้ “น้องโฟล์ค” รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก
ป้าแนน เล่าอย่างภูมิใจว่า เริ่มแรกตั้งแต่น้องโฟล์คอยู่ในท้องคุณแม่ เราจะเล่านิทานให้ฟังทุกวัน จากนั้นตั้งแต่เล็กก็ให้สัมผัสกับหนังสือ ให้ดูภาพมาตลอด เริ่มจากภาพสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ทั้งเรื่องราวของผัก ผลไม้ สัตว์ต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน จากนั้นเมื่อโตขึ้นก็ให้น้องโฟล์คเป็นคนเลือกเองว่าจะอ่านหนังสือแบบไหน ชอบแบบไหน และพัฒนาการอ่านไปเรื่อยๆ จากแค่ดูภาพ จนอ่านเป็นคำ และพัฒนาเป็นอ่านคำกลอน เรียกได้ว่านิทานทำให้น้องโฟล์คเป็นเด็กที่มีพัฒนาการสูงมาก
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ หนังสือนิทานกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของน้องโฟล์ค ทุกตัวอักษรได้ช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ เพราะหนังสือแต่ละเล่มจะแฝงด้วยข้อคิด ทั้งเรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ เรียกได้ว่าหนังสือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมล็ดพันธ์เม็ดนี้ ได้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้อย่างสง่างาม
คุณแม่ชฎาพร รัตนาวิวัฒน์พงษ์ หรือ แม่ดาวของ"ดีโด้" เน้นย้ำเช่นกันว่าหนังสือเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยได้เป็นอย่างดี แต่เข้าใจว่าธรรมชาติของแม่หลายๆคน ไม่ได้มีนิสัยรักการอ่านเสมอไป ตนเองก็เช่นกัน แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดที่จะตัดโอกาสของลูก จากปกติแทบจะไม่อ่านหนังสือเลย แต่พอเริ่มตั้งครรภ์ก็เริ่มคิดว่าจะเริ่มอ่านเพื่อลูก โดยเริ่มตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง ทำจนเป็นนิสัย จนวันนี้ไม่ใช่แต่น้องดิโด้ที่ชอบการอ่าน แต่ทำให้แม่ดาวรักการอ่านจนเป็นนิสัยเช่นกัน
แม่ดาว เล่าย้อนว่า ตนให้ลูกอ่านหนังสือตั้งแต่แรกเกิด แม้ยังอ่านไม่ได้ แต่ก็ให้ลูกสัมผัส เช่น หนังสือลอยน้ำ จากนั้นก็อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกคืน จนลูกชอบมากและกลายเป็นกิจวัตรที่ต้องทำกันทุกคืน ต่อมาก็เริ่มสร้างโจทย์ใหม่ๆ เพื่อฝึกลูกไปในตัว เช่น ให้นั่งสมาธิก่อนจะเล่านิทานให้ฟัง และที่สำคัญ แม่ดาวใช้หนังสือในการปรับพฤติกรรมของลูก เชื่อมโยงนิทานกับชีวิตจริง
“มีอยู่ครั้งหนึ่งสังเกตเห็นลูกมีนิสัยอิจฉาเพื่อน อยากได้ของเล่นของเพื่อน จึงหาหนังสือนิทานมาอ่านให้ฟัง ซึ่งคุณแม่หลายๆ คนคงจะรู้จักนิทานเรื่องนี้ดี “จี๊ดจ๊าดขี้อิจฉา” ซึ่งการสอนเช่นนี้จะทำให้ลูกเราเข้าใจเองว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะตามธรรมชาติของเด็กทุกคน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองคงไม่ชอบให้ใครมาต่อว่า ดังนั้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ปรับพฤติกรรมผ่านนิทานจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด สำหรับน้องดีโด้ เพียงไม่กี่ครั้งก็สามารถปรับพฤติกรรมได้
สุดท้ายอยากย้ำกับคุณแม่ทุกคนว่าการอ่านไม่มีคำว่าสาย หากแม่คนใดที่ยังไม่ได้เริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟัง จะเริ่มตอนนี้ก็คงไม่สายเกินไป
นอกจากนิทานจะสร้างจินตนาการแล้ว หนังสือนิทานยังกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี ตามคำบอกเล่าของ คุณแม่ระวิวรรณ วงศ์สุขะ หรือแม่อ้อม ระบุว่า นิทานทำให้ครอบครัวเราผูกพันกันมากขึ้น เราใช้หนังสือในการสร้างกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เวลาของครอบครัวมีเพิ่มขึ้น
“แม่อ้อม” เล่าว่า การเริ่มต้นของครอบครัวเราจะต่างจากแม่ลูกคู่อื่น คือไม่ได้ทำตามทฤษฎี ไม่ได้อ่านหนังสือนิทานแม่ลูกทั่วไป แต่นิทานเล่มแรกที่อ่านให้ลูกฟังเป็นชีวประวัติรถ เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีอยู่แล้ว ประกอบกับเป็นหนังสือที่ลูกสนใจ และด้วยอยู่ต่างจังหวัด การเลือกหนังสือจะอาศัยการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง เราไม่ได้เน้นว่าต้องอ่านได้ ต้องท่อง ก. ไก่ ได้ แต่เราจะเชื่อมโยงกับรูปภาพ เช่น ไก่เป็นอย่างไรก็ให้ดูของจริง ซึ่งโชคดีที่ต่างจังหวัดมีทรัพยากรใกล้ตัวที่หาได้ง่าย
“วิธีการสอนของแม่อาศัยดูจากความชอบของลูกเป็นหลัก ตั้งแต่เล็กอ่านหนังสือให้ลูกฟัง จนลูกใช้หนังสือเหมือนเป็นตุ๊กตา เชื่อมโยงคำสอนจากหนังสือสู่ชีวิตจริง และสร้างกิจกรรมในการอ่านหนังสือกับลูก เช่น เมื่อเราอ่านหนังสือเรื่องต้นข้าว เราก็จะพาเด็กๆ ลงไปในนาข้าวเพื่อให้สัมผัสบรรยากาศจริง ซึ่งนอกจากจะฝึกทักษะแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว สร้างกิจกรรมให้ครอบครัวอบอุ่นอีกด้วย”
การเล่านิทานแม้เพียงไม่กี่นาทีก็สามารถสร้างความสุขให้ครอบครัว สร้างจินตนาการให้ลูกได้อย่างมหาศาล ที่สำคัญนิทานเล่มเล็กกลายเป็นตัวช่วยให้หลายครอบครัวสานสร้างความผูกพัน เปิดประตูสู่ความเชื่อมั่นและเสริมสร้างปัญญาของเด็ก เป็นเด็กที่ฉลาดทั้งทางปัญหาและทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างทักษะชีวิต ให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กๆ
นี่คือข้อพิสูจน์....มหัศจรรย์ตัวหนังสือ ที่ได้สรรค์สร้างจินตนาการ สร้างความผูกพันจากแม่สู่ลูก การเริ่มต้นหาหนังสือนิทานดีๆ ให้ลูก จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์จากเด็กวันนี้สู่ผู้ใหญ่วันหน้า ให้เติบโตอย่างมั่นคง และเป็นอนาคตที่ดีและสรรค์สร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไป