ผบ.ทร.ยื่นยันงบ 3 หมื่นล้านบาทจัดซื้อเรือฟริเกตโปร่งใส
การจัดหาเรือฟริเกตชุดใหม่ตามคุณสมบัติการรบแบบ 3 มิติ ทั้งใต้น้ำ ผิวน้ำ และต่อสู้อากาศยาน เพื่อรักษาอธิปไตยทางทะเล ในเวลาที่กองทัพเรือไทยยังไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการ เป็นความจำเป็นตามแผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างกำลังรบ โดยล่าสุดได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจัดหาเรือฟริเกต 2 ลำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณภายในของกองทัพเรือเอง
กองทัพเรือ ต้องการเรือฟริเกตเร่งด่วนทดแทนเรือหลวงชุดพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กองเรือฟริเกตที่ 1 ที่จะปลดประจำการในอีก 3 ปีข้างหน้า เพิ่มขีดความสามารถปราบเรือดำน้ำ และถ่วงดุลอำนาจกำลังรบกับประเทศอื่นๆ ในด้านเรือดำน้ำ ที่ไทยยังขาดองค์ความรู้ด้านนี้อย่างแท้จริง
พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ระบุว่า การจัดซื้อเรือฟริเกตแบ่งเป็น 2 ระยะ ในช่วง 7 ปีนี้ โดยจัดซื้อครั้งละ 1 ลำ ใช้เวลาจัดสร้าง 3-4 ปีต่อลำ โดยยังไม่ได้สรุปว่าจะจัดซื้อจากประเทศใด แต่เน้นคุณสมบัติตรงกับที่กองทัพเรือต้องการ
ทั้งนี้เรือฟริเกต จัดเป็นเรือรบอเนกประสงค์ เป็นกำลังหลักของกองทัพเรือทั่วโลก ถูกออกแบบให้มีความอ่อนตัว ทั้งภารกิจลาดตระเวน คุ้มกันกองเรือ และทำการรบ เรือฟริเกตสมัยใหม่มีขนาดระวางขับน้ำ 3,000 ตัน ขึ้นไป ทำงานในทะเลลึกได้ พิสัยทำการไกลและระบบอาวุธทันสมัย
นอกจากนี้ กองทัพเรือ ยังมีโครงการปรับปรุงระบบกำลังรบเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร กองเรือฟริเกตที่ 2 เพื่อพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางทหาร หรือดาตาร์ลิงค์ กับเครื่องบินขับไล่กริพเพนของกองทัพอากาศ
ขณะที่โครงการจัดหาเรือดำน้ำ จะยังอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือต่อไป เพื่อเตรียมพร้อมวางรากฐานการพัฒนากองทัพเรือในอนาคต โดยยังคงฝึกกำลังพลให้มีองค์ความรู้ในด้านเรือดำน้ำ เพราะการปฏิบัติทางยุทธการ จำเป็นต้องผสมผสานการรบทุกมิติ
กองทัพเรือมีเรือฟริเกตระวางขับน้ำ 2000-4000 ตัน จำนวน 4 ลำ อายุการใช้งาน 17-30 ปี โดยนอกจากกการวางยุทธศาสตร์เสริมสร้างกำลังรบ ยังเน้นการพัฒนาคน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขณะนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ทั้งผลกระทบจากปัญหาขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับประเทศในเอเชีย และปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรทางทะเล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้