กสทช.แนะเปิดพื้นที่ “คนพิการ” เข้าถึงสื่อช่วงวิกฤตน้ำท่วม
ในงานเสวนา "กรุงเทพฯ 2555 น้ำท่วม/ไม่ท่วม นักข่าวเอาอยู่หรือไม่" ที่จัดโดยสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส ดร.เสรี สุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพับติ ม.รังสิต กล่าวถึงการทำงานของผู้สื่อข่าวว่า หากประเทศไทยมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรายการสถานการณ์ที่เข้าถึงประชาชนจะทำให้คนไม่ตื่นตระหนก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ในสถานการณ์ที่ผ่านมาประชาชนเลือกเสพข้อมูลจากสื่อสารมวลชนแทน แต่สื่อมวลชนอาจจะมีข้อจำกัดในความไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ที่จะอธิบายปรากฎการณ์ให้เข้าใจได้อย่างละเอียด
“นักข่าว”ต้องเข้าใจพยากรณ์อากาศ-อย่ารายงานเกินจริง
ซึ่งสอดคล้องกับ ศ.ธนวัตน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า สื่อเมืองไทยยังสื่อสารในเรื่องปรากฎการณ์น้ำท่วมในช่วงปีที่ผ่านได้ดี แต่อาจจะรายงานแบบลงลึกไม่รายละเอียดไม่ได้ แต่ยังดีที่ยังสามารถเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันในวันที่สื่อของรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้
ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขามูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า นักข่าวยังมองประเด็นความเสียหายมากเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่ควรรายงานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันนักข่าวเองไม่ควรที่จะรายงานแต่ข่าวที่น้ำท่วมแล้วลงไปแช่น้ำรายงานข่าวอย่างเดียวควรที่จะเดินทางไปสำรวจเส้นทางตระเวนดูรอบ ๆ ประเมินสถานณการของน้ำหลาย ๆ จุดตามที่ต่าง ๆ มองหลาย ๆ มุมวิเคราะห์สถานการณ์ว่าน้ำไม่ได้ท่วมอะไรมากมาย ขณะเดียวกันอยากให้สื่อนำเสนอในด้านที่เป็นจริงเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกกับเหตุการณ์มากเกินไป
เปิดช่องทางให้ “ผู้พิการ”เข้าถึง-สื่อต้องมีจริยธรรม
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า กสทช.ร่างประกาศแนวปฏิบัติบังคับให้ทุกสถานีวิทยุโทรทัศน์ใช้ในการรายงานข่าวตามข้อมูลของ กสทช. และ เน้นตามพื้นฐานของความจริง หรือ หากรายงานข่าวที่มีนักวิชาการเป็นผู้ให้ความรู้ขอให้ส่งรายชื่อของนักวิชาการให้ทาง กสทช.รับทราบด้วย
นอกจากนี้ทุกสถานีต้องมีแผนปฏิบัติงานในเรื่องการส่งเสริมจรรยาบรรณที่มีความรับผิดชอบต่อการรายงานข่าว และ หากสื่อมวลชนจะรายงานข่าวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องรอ กสทช. แต่ขอให้มีแหล่งข่าวที่ชัดเจน หรือ หากเหตุใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นสื่อมวลชนจะรายงานให้ประชาชนทราบขอให้อยู่บนพื้นฐานของความจริงเพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน ซึ่งต้องรายงานให้ชัดเจนมีระยะก่อนหลัง หรือ หากข่าวนั้นจบไปแล้วควรรายงานให้ประชาชนได้ทราบว่า ข่าวจบไปแล้ว รวมถึงต้องมีคำบรรยาภาพข่าวหากภาพนั้นเป็นภาพข่าวเมื่อช่วงเวลาใด หรือ เป็นแฟ้มภาพข่าว
"อยากให้ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เสนอข่าวที่เป็นช่องทางให้คนพิการได้รู้เท่าทันข่าวด้วยเช่นภาษามือ หรือ ข้อมูลตัววิ่งสำหรับคนพิการ” น.ส.สุภิญญา กล่าวยืนยัน
2 กูรูห่วงกรุงเทพฯเสี่ยงซ้ำรอยพายุ “คิม-เกย์”
อย่างไรก็ดีทั้ง ดร.เสรี และ ศ.ธนวัตน์ ต่างเป็นห่วงว่า กทม.อาจจะมีความเสี่ยงน้ำท่วมได้ แต่ไม่ได้มาจากน้ำเหนือ แต่มาจากน้ำฝนโดยเฉพาะในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ โดยพายุเกิดจากทะเลจีนใต้อาจจะพัฒนาเป็นพายุโซนร้อนได้และขึ้นฝั่งที่ไทย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเหตุเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เช่นปี 2526 พายุคิมทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรืออย่างปี 2531 พายุเกย์ซัดภาคใต้ท่วมหลายจังหวัด
“แต่จะให้พยากรณ์ว่า 3-7 วันน้ำจะท่วมไหม ไม่มีใครจะสามารถพยากรณ์ได้แม่นยำหรอกครับ แต่จะบอกว่าควรให้ข้อมูลประชาชนที่จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยเหลือตนเอง เตรียมการด้วยตัวเองได้ทันเวลา” ดร.ศุภราทิตย์ ระบุ
อย่างไรก็ดีฝนที่ตกในช่วงนี้เป็นเพราะร่องมรสุมยังพัดผ่านประเทศไทย และ ยังไม่ไปไหนจึงทำให้กรุงเทพฯเกิดฝนตกชุกในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯแต่มีความเสี่ยงได้เท่านั้น