นักวิชาการ
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและผู้สูงอายุ จัดงานเสวนาเรื่อง"ความเป็นผู้สูงอายุมุมมองที่แตกต่าง" โดยดร.รศรินทร์ เกรย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ถึงผลวิจัยเรื่อง "นิยามของผู้สูงอายุและผลกระทบถ้ามีการเปลี่ยนนิยาม" พบว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นและผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้น ผู้สูงอายุในสังคมไทยจึงอยากขอขยายเวลาเกษียณอายุจาก 60ปีเป็น 65 ปีซึ่ง ดร.รศรินทร์ได้กล่าวว่าจากผลวิจัยการยืดเวลาเกษียณมีทั้งผลดีและผลเสียคือถ้ามองในแง่บวกผู้สูงอายุมีงานทำ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขกายดีขึ้น ในขณะเดียวกันถ้ามองในแง่ลบทางด้านสวัสดิการที่จะได้รับก็จะขยายเวลาออกไปด้วย
รศ.วิทยากร เชียงกลู วิทยาลัยนวัตกรรมด้านสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับการยืดเกษียณอายุออกไปเพราะสังคมคนไทยส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมอายุแบบเก่าคือ 60ปีเกษียณ แต่หากจะเปลี่ยนหรือยืดเวลาเกษียณอายุต้องเข้าใจความเป็นอยู่สถานะความแตกต่างทางสังคม คนรวย คนจน ซึ่งหากขยายอายุของผู้สูงอายุเป็น 65 ปีก็จะมีผลดีต่อข้าราชการซึ่งจะมีงานทำที่มั่นคง รู้สึกทำตัวมีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อสังคมซึ่งคนเหล่านี้มีความรู้สารมารถเอาตัวรอดและช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ในขณะเดียวกันจะมีผลกระทบต่อคนยากจน ผู้สูงอายุในชนบทต้องอยู่อย่างยากลำบาก จากการที่ได้รับเงินสวัสดิการ 600 บาทต้องยืดเวลาออกไปอีก ซึ่งหากจะมีการยืดอายุจริงๆควรที่จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องอายุการเกษียณและสวัสดิการด้วย ควรได้รับความช่วยเหลือซึ่งแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นเงินบำนาญอาจไม่พอใช้จ่ายจึงต้องมีการบริหารแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในอนาคต
ด้าน ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับการเกษียณอายุต้องมีความยืดหยุ่น เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถช่วยให้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น ซึ่งหากจะขยายเวลาเกษียณอายุการทำงาน ก็ควรมีการตรวจสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสมองว่ามีความสามารถในการทำงานได้มากน้อยเพียงใด
นายภูมิสิทธ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย กลุ่มเอชีฟ( a-chieve ) หรือ องค์กรเพื่อสังคมในกลุ่มรักอาชีพ ได้กล่าวว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น มีสิทธิที่จะเลือกงานที่ชอบหรือไม่ชอบและส่วนมากจะชอบทำงานอิสระมากกว่างานราชการ เพราะฉะนั้นการยืดขยายอายุเกษียณของผู้สูงอายุ จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นผู้สูงอายุในอนาคต
นายโอภาส พิมลวิชยากิจ สำนักส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทัพษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ ได้กล่าวถึงแนวโน้มของผู้สูงอายุในอนาคตว่าควรมีการเตรียมความพร้อมในการก้าวเป็นผู้สูงอายุ ควรที่จะเรียนรู้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในความเป็นอยู่ของสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน และหากในวันที่เราเป็นผู้สูงอายุควรทำงานให้มีประโยชน์และมีคุณค่าสามารถหาเลี้ยงตัวเองนับว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต