สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรียกร้องระงับนำเข้าเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิด
กระทรวงสาธารณสุข รายงานผลการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพและเจาะเลือด เพื่อทดสอบหาความเสี่ยงจากการได้รับเคมีเกษตรปนเปื้อน ตั้งแต่ปี 2553-2554 พบว่า ผู้บริโภค มีความเสี่ยงได้รับเคมีเกษตรมากถึงร้อยละ 60-70 ส่วนเกษตรกรร้อยละ 30-40 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
โดยตัวแทนจากกรมการข้าว กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค และนักวิชาการหลายสถาบัน ระบุตรงกันว่า เคยเสนอเรื่องให้กรมวิชาการเกษตร ระงับการขึ้นทะเบียนเคมีเกษตร แต่กรมวิชาการเกษตร กลับละเลย
ทำให้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ เตรียมจัดทำแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายเคมีเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมทโทมิล ไคโครโตฟอส และอีพีเอ็น ต่อรัฐบาลจำนวน 8 ข้อ เช่น ระงับการขึ้นทะเบียน ห้ามผลิต ห้ามครอบครอง และปรับปรุงหลักเกณฑ์พิจารณาขึ้นทะเบียนเคมีเกษตร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศพัฒนาแล้วและอาเซียนหลายประเทศ ระงับการใช้เคมีเกษตรเหล่านี้ เพราะมีงานวิจัยรองรับจำนวนมาก แต่สำหรับประเทศไทย กลับล่าช้า
น.ส.ประภัสสรา พิมพ์พันธุ์ ผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า อนุคณะกรรมการขึ้นทะเบียน เตรียมเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาระงับการขึ้นทะเบียน ไคโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งใช้มากในคะน้า พริก มะเขือเทศ และแตง ส่วนเคมีเกษตรชนิดอื่น ยังอยู่ระหว่างรวบรวมงานวิจัยเพิ่มเติม และรออธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่ พร้อมยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายที่ถูกต้อง