ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เผยผลสำรวจพบเว็บไซต์การเมืองใช้"Hate Speech"เกลื่อนเว็บ แซงทีวีดาวเทียม

สังคม
11 ต.ค. 55
08:24
282
Logo Thai PBS
เผยผลสำรวจพบเว็บไซต์การเมืองใช้"Hate Speech"เกลื่อนเว็บ แซงทีวีดาวเทียม

เปรียบเทียบผลการศึกษาการใช้ Hate Speech ในเว็บไซต์และทีวีดาวเทียมทางการเมือง พบเว็บไซต์การเมืองมีการใช้ Hate Speech ที่แรงกว่าทีวีดาวเทียม ทั้งการลดทอนความเป็นมนุษย์ การลดคุณค่า รวมถึงการชี้นำไปสู่ความรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง

การศึกษารอบ Hate Speech ในเว็บไซต์การเมืองและทีวีดาวเทียมช่องการเมือง ของมีเดียมอนิเตอร์เป็นการศึกษา ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2555 ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความชัดแย้งทางการเมืองหลายกรณี อาทิ กรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 วาระ 3 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นอีก ได้แก่ กรณีการชะลอลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 กรณีโหวตล้มค้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการโต้ตอบระหว่างนายพานทองแท้ ชินวัตร กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ผ่านเฟสบุ๊ค และกรณีทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง เช่น คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ฯลฯ

ผลการศึกษาการใช้ Hate Speech พบว่า เว็บไซต์การเมืองมีการใช้ Hate Speech ทั้ง 3 ลักษณะ ได้แก่ การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พบ 4 ลักษณะ คือ การเปรียบเทียบกับสัตว์ การเหยียดชนชั้น การเปรียบเทียบกับอมนุษย์ และการเหยียดเชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด การลดคุณค่า พบ 9 ลักษณะ คือ การโจมตีว่าชั่วร้าย โหดเหี้ยม โง่เขลา ขี้โกหก เห็นแก่เงิน ขี้ขลาด ขี้โกง น่าขยะแขยง น่ารังเกียจ บ้าเสียสติ และหน้าด้าน

การชี้นำสู่ความรุนแรง พบ 2 ลักษณะ คือ การข่มขู่ อาฆาต และการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ส่วนทีวีดาวเทียมช่องการเมือง พบการใช้ Hate Speech 2 ลักษณะ ได้แก่ การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พบ 1 ลักษณะ คือ การเปรียบเทียบกับสัตว์ การลดคุณค่า พบ 4 ลักษณะ คือ การโจมตีว่าชั่วร้ายโหดเหี้ยม ขี้โกหก ขี้โกง และโง่เขลา

เมื่อเปรียบเทียบการใช้ Hate Speech ที่พบในสื่อทั้ง 2 พบว่า เว็บไซต์การเมืองมีสัดส่วนเนื้อหาที่เข้าข่าย Hate Speech มากกว่าและมีลักษณะที่หลากหลายกว่าทีวีดาวเทียมช่องการเมือง นอกจากนี้เนื้อหาที่เข้าข่าย Hate Speech ในเว็บไซต์การเมืองจะมุ่งไปที่ทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ส่วนทีวีดาวเทียมช่องการเมืองพบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อ พบการใช้ Hate Speech ที่น้อยและมุ่งไปที่พรรคการเมืองเท่านั้น

ทั้งนี้ เกณฑ์การคัดเลือกหน่วยการศึกษาเว็บไซต์การเมือง และทีวีดาวเทียมช่องการเมืองมีดังนี้ เว็บไซต์การเมือง เลือกศึกษาเว็บไซต์ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานแลกเปลี่ยน ตอบโต้ แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และมีการอัพเดทเนื้อหาสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) เว็บไซต์ของผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (2) เว็บไซต์ของผู้สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (3) เว็บไซต์ของกลุ่มที่ไม่เลือกข้างทางการเมือง ได้แก่ เว็บไซต์ขบวนการเสรีไทย เว็บไซต์พันทิป เว็บไซต์ Internet to Freedom เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เว็บไซต์ประชาไท และเว็บไซต์ประชาทนธิปไตย

ทีวีดาวเทียมช่องการเมือง เลือกศึกษารายการจากสถานีที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) สถานีที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (2) สถานีที่สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (3) สถานีที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งสิ้น 4 สถานี ทั้งนี้เลือกศึกษาสถานีละ 1 รายการที่ได้รับความนิยมจากผู้ชม หรือมีการแสดงความคิดเห็นของผู้ดำเนินและผู้ร่วมรายการที่อาจก่อให้เกิด Hate Speech ได้แก่ รายการประชาชนข่าว (ช่อง Asia Update) รายการคนเคาะข่าว (ช่อง ASTV) รายการสายล่อฟ้า (ช่อง Bluesky Channel) และรายการ The Daily Dose (ช่อง Voice TV)

วิธีการศึกษา วิเคราะห์ลักษณะการใช้ Hate Speech 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Dehumanized) คือ การเหยียดหยามหรือเปรียบเทียบคนกลุ่มหนึ่ง ๆ กับสิ่งที่น่ารังเกียจ ต้อยต่ำ ด้อยคุณค่า ไร้สิทธิ เช่น การเปรียบเทียบเป็นสัตว์ การเหยียดชนชั้น ฯลฯ (2) การลดคุณค่า (Devalued) คือ การกล่าวโจมตี การด่าทอ กลุ่มคน ด้วยคุณค่าด้านลบ มีจุดประสงค์เพื่อลดทอนความสำคัญ ลดทอนคุณค่าของตัวตน ค่านิยม การกระทำ และอุดมการณ์ทางการเมืองของคนกลุ่มดังกล่าว เช่น การด่าทอว่าโง่เขลา ชั่วร้ายเลวทราม โหดเหี้ยมอำมหิต ขี้โกหก ฯลฯ และ (3) การชี้นำสู่ความรุนแรง (Threat) คือ การแสดงออกที่อาจนำไปสู่การปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง เช่น การข่มขู่ อาฆาตมาดร้าย การกล่าวปลุกปั่นโดยมุ่งหวังให้เกิดความรุนแรง การต่อสู้ การปะทะ ฯลฯ

ประเด็นทางการเมืองที่พบมากในสื่อทั้ง 2 คือ (1) กรณีชะลอลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และกรณีโหวตค้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ (2) กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่คืนรถยนต์กันกระสุน (3) กรณีการโต้ตอบระหว่างนายพานทองแท้ ชินวัตร กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ผ่านเฟสบุ๊ค

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่พบในเว็บไซต์การเมือง คือ กรณีข่าวพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เชิญพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล กรณีพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เปิดเวทีปราศรัยที่มีนบุรี และประเด็นอื่นๆ ที่พบในทีวีดาวเทียมช่องการเมือง คือ กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนรี ลงพื้นที่เตรียมรับมือน้ำท่วม กรณีทุจริตคอรัปชั่นของพรรคการเมือง กรณีสหรัฐอเมริกาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง