สื่อ! ตัวช่วยหลัก ลดภาพความรุนแรง-ก่อทัศนคติใหม่ กรณี
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวงเสวนาเรื่อง "ความรุนแรงในสังคมไทย : กรณีศึกษาโทษประหารชีวิต" ที่สมาคมฝรั่งเศส ในโอกาสครบรอบ 10 ปี วันยุติโทษประหารชีวิตสากล 10 ต.ค. 2555 ซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สถาบันเกอเธ่ และสถานทูตอังกฤษ จัดเทศกาล "หนังมีชีวิต" โดยชูประเด็นหลัก เรื่อง การต่อต้านโทษประหารชีวิต
ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน สื่อมวลชน และผู้ดำเนินรายการข่าวทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ได้เสนอความเห็นต่อบทบาทของสื่อว่ามีส่วนในการส่งเสริมความรุนแรงในสังคมมากน้อยแค่ไหนว่า สื่อถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความรุนแรง และฉายภาพชัดว่า ผู้ที่กระทำความผิดต้องได้รับโทษอย่างสาสม โดยยกตัวอย่าง ละครเรื่อง เปาปุ้นจิ้น โดยเฉพาะโทษประหารชีวิต เห็นว่าควรมีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การประหารชีวิต อีกทั้งในปัจจุบัน สื่อมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้มีชุดความจริงจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้กระทำผิด, ผู้ที่ได้เป็นเหยื่อ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ การประหารชีวิตจึงเหมือนเป็นการด่วนข้อลงโทษที่เร็วเกินไป
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า สื่อในปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการชี้นำสังคม ไม่เพียงเฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสื่อออนไลน์, รายการต่าง ๆ และละครที่มักปลูกฝังความรุนแรง จนทำให้รู้สึกชินชา ต่อการลงโทษผู้ที่กระทำผิด ที่ต้องใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือชีวิตแลกด้วยชีวิตเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ดังนั้นจึงต้องมีสร้างให้ผู้รับสารรู้เท่าทันสื่อ และสื่อต้องมีความรับผิดชอบด้วย รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมของสื่อต่อการนำเสนอข่าวผู้ที่กระทำความผิด เช่น นำผู้ต้องหาค้ายาเสพติดมาแถลงข่าว, การสัมภาษณ์ผู้ต้องหาถึงสาเหตุที่กระลงไป หรือญาติของผู้ต้องหา หรือคู่กรณี ซึ่งสื่อมวลชนควรมีความอ่อนไหวในประเด็นดังกล่าว เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา
ภายหลังการฉายภาพยนตร์ เรื่อง ไคลม์ อาฟเตอร์ ไคลม์ (Crime After Crime) ที่เป็นเรืองราวของนักโทษหญิงผิวสีคนหนึ่ง ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ก่อคดีมาตรกรรมแฟนตัวเองโดยเจตนา แต่ต้องรับโทษในเรือนจำเกินกว่าโทษที่กำหนด คือ 6 ปี แต่เธออยู่ในเรือนจำนั้นมาแล้วกว่า 10 ปี ทำให้มีสองทนายความ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยใช้เวลาทั้งหมด 7 ปีในการต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมจนสุดท้ายก็สามารถช่วยเธอให้ได้รับอิสรภาพ หลังเธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำประมาณ 27 ปี
ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียน และผู้ดำเนินรายการดีวา คาเฟ่ ทางช่องวอยซ์ทีวี ได้ร่วมวงเสวนาภาษาหนัง ต่อภาพยนตร์ที่ฉายไป โดยระบุว่า รู้สึกตื้นตันที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้นึกถึงกรณีคดีของอากง ซึ่งตนไม่ได้โฟกัสในเรื่องความรุนแรง หรือ ปัญหาครอบครัว แต่เรื่องนี้ทำให้เห็นถึงความบกพร่องของกระบวนยุติธรรม และบทบาทของสื่อมวลชน ซึ่งในภาพยนตร์ที่เป็นเหตุการณ์จริงนั้นได้ทำให้เห็นบทบาทของสื่อที่คอยเสนอข่าวมาโดยตลอด และจริงจังกับประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ได้ตัดขาดจากเสียงของประชาชน คือ ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นต่อคำตัดสินของศาลด้วย ขณะที่ประเทศไทย ไม่สามารถคัดค้าน หรือแสดงความคิดต่างได้มากเท่าไหร่ เนื่องจากกฏหมายให้อำนาจแก่ศาล และทำให้กระบวนยุติธรรมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเคารพ
ทั้งนี้ ตนเอง ไม่เคยเห็นกับโทษประหารชีวิต เนื่องจากคิดว่า ทุกคนบนโลกนี้เป็นมนุษย์ที่สามารถเกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจ ผู้พิพากษาก็เช่นกัน นอกจากนี้ยังคิดว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้น เป็นการยกระดับจิตใจ ที่ไม่ต้องมีการคิดแก้แค้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ปัญหาขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละสังคมด้วย
ด้านอ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักรัฐศาสตร์อิสระ แสดงความคิดเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวว่า กระบวนการที่น่าสนใจ คือ ทนายความทั้ง 2 คนในเรื่องนั้น สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตัดสินไปแล้ว สามารถย้อนกลับ รวมไปถึงการสามารถเรียกขอดูเอกสารการพิจารณาคดีเมื่อ 20 กว่าปีก่อนได้ นอกจากนี้อ.ศิโรตม์ ยังตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการยุติธรรมว่า แท้จริงแล้ว ความยุติธรรมสามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ เมื่อมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามา