สมาคมผู้ผลิตสีไทยเห็นด้วย มาตรการสีทาบ้านปลอดสารตะกั่ว
การเสวนาวิชาการตะกั่วในสีทาอาคารภัยที่ป้องกันได้ มูลนิธิบูรณะนิเวศน์ เปิดเผยผลการสำรวจสีทาอาคารในปี 2553 ซึ่งนำตัวอย่างสียี่ห้อดัง และสีที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไป มาวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่วปนเปื้อน ซึ่งพบว่า ตัวอย่างสีทาอาคารประเภทสีน้ำมัน ร้อยละ 47 พบสารตะกั่วปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานแบบสมัครใจของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ที่ต้องมีตะกั่วปนเปื้อนไม่เกินร้อยละ 0.06 หรือ 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ขณะที่ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุ ปี 2553 พบเด็กไทยมากกว่าร้อยละ 50 เสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่วปนเปื้อนจากสีทาอาคาร เช่น บ้านศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน ซึ่งสารตะกั่วจะส่งผลต่อสมอง ทำให้เกิดโรคปัญญญาอ่อน เป็น 1 ในโรคจากสภาพแวดล้อมที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ร้ายแรงที่สุด
ทั้งนี้วงเสนา เสนอให้สมอ. ออกมาตรการให้ผู้ประกอบการสีทุกประเภทต้องผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. แทนมาตรฐานแบบสมัครใจ ที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะทดสอบมาตรฐานสี ขณะที่ อุปนายกสมาคมผู้ผลิตสีไทย ยืนยันว่า ผู้ประกอบการไม่คัดค้านในมาตรการดังกล่าว แต่เห็นว่า ภาครัฐควรหามาตรการป้องกันการนำเข้าสีที่มีสารตะกั่วอย่างมีประสิทธิภาพก่อนบังคับให้ผู้ประกอบการในประเทศ
สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นควรกำหนดให้สีตกแต่ง และสีทาอาคาร เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมที่ต้องติดฉลากปริมาณสารตะกั่วอย่างชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกให้กับผู้บริโภค และควรหามาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้สามารถผลิตสีที่ควบคุมการปนเปื้อนสารตะกั่วไม่ให้เกิดค่ามาตรฐาน รวมถึง หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตรวจสอบสีที่วางขายท้องตลาดเป็นประจำ เพื่อควบคุมให้รัดกุมมากขึ้น