ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โรงพยาบาลราชวิถี ขาดแคลนพยาบาล แนะรัฐยกเลิกนโยบายลดการบรรจุแพทย์-พยาบาล

สังคม
19 ต.ค. 55
04:25
932
Logo Thai PBS
โรงพยาบาลราชวิถี ขาดแคลนพยาบาล แนะรัฐยกเลิกนโยบายลดการบรรจุแพทย์-พยาบาล

การออกมาชุมนุมเรียกร้องของเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการบรรจุพยาบาลลูกจ้างกว่า 17,000 คน ให้เป็นข้าราชการ สร้างความมั่นคงในอาชีพ ยุติปัญหาสมองไหลจากโรงพยาบาลรัฐไปยังเอกชน ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐถูกฉายภาพชัดมากขึ้นอีกครั้ง

โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร เป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ สังกัดกรมการแพทย์ ที่ผู้รับบริการส่วนใหญ่ คือ ชนชั้นกลางลงมาจนถึงรากหญ้า ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลราชวิถี กำลังประสบปัญหาพยาบาลขาดแคลน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการไปว่าจ้างพยาบาลจากที่อื่น และมีการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลขึ้นเพื่อแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน พร้อมเร่งผลิตผู้ช่วยพยาบาลเพื่อช่วยงานพยาบาล

ทั้งนี้ที่โรงพยาบาลราชวิถี มีอดีตข้าราชการพยาบาลที่เกษียณอายุราชการแล้วมาช่วยปฏิบัติหน้าที่พยาบาลจิตอาสา คอยแนะนำปัญหาด้านสุขภาพ และขั้นตอนการรับบริการช่วยงานพยาบาล ควบคู่ไปกับการจ้างพยาบาลของโรงพยาบาลให้ทำงานล่วงเวลาและจัดหาพยาบาลภายนอกเข้ามาเป็นลูกจ้างเพิ่มเติม เพื่อทดแทนกำลังคนให้รองรับกับงานบริการรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นจากนโยบาย ด้านการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 150,000 คน ซึ่งปกติพยาบาล 1 คน จะต้องดูแลผู้ป่วย 1 เตียง แต่ที่โรงพยาบราชวิถี มีพยาบาล 800 คน จากความต้องการที่ 1,200 คน โดยมีสาเหตุมาจาก นโยบายการลดอัตราข้าราชการในช่วง 10 ปีที่่ผ่านมา ที่ทำให้พยาบาลลูกจ้างส่วนใหญ่รู้สึกไม่มั่นคง ขาดแรงจูงใจในการรับภาระหน้าที่ที่มีแต่จะมากขึ้นทุกวัน และตัดสินใจย้ายออกในที่สุด โดยแผนกที่ขาดแคลนพยาบาลมากที่สุด คือ แผนกผ่าตัด เนื่องจากเป็นแผนกที่มีงานไม่แน่นอนที่สุด ทำงานต่อเนื่องยาวนานกว่าแผนกอื่นโดยเฉพาะ ในช่วงเวลาที่มีอุบัติเหตุกรณีเร่งด่วน

ด้านรศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า เมื่อไม่สามารถเพิ่มอัตราการบรรจุได้ รัฐบาลควรจำแนกกลุ่มวิชาชีพออกจากการปรับลดอัตราข้าราชการ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ลูกจ้างของรัฐ ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพยาบาลควรเร่งผลิตจำนวนพยาบาลให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และตอบสนองนโยบายด้านการสาธารณสุขของรัฐเอง พร้อมระบุ ในต่างประเทศบางแห่ง รัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการส่งเสริมให้ คลินิค หรือ สถานพยาบาลท้องถิ่น เป็นผู้คัดกรองผู้ป่วย หากป่วยด้วยโรคพื้นฐานก็ให้รักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น แต่หากรายใดมีอาการหนักก็ควรถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลส่วนกลาง เพื่อลดความแออัดในการให้บริการและลดประมาณในการว่าจ้างพยาบาลเสริม ซึ่งขณะนี้กลายเป็นภาระที่โรงพยาบาลต้องแบกรับเพราะไม่สามารถเรียกเก็บเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากประชาชนได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง