ปัญหาการเมืองไทยกระทบการสร้าง
ประเทศไทยมีเวลา 3 ปีในการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลโลก หลังจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติมีมติในปี 2552 เมื่อ 5 เมษายน 2553 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการณ์ในการเป็นเจ้าภาพ และอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาทในการปรับปรุงสนามอินดอร์สเตเดียมหัวหมาก และสนามนิมิบุตร โดยปฏิเสธในการตั้งคณะกรรมการอำนวยการซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการจัดการแข่งขันซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน แต่กลับโยนหน้าที่รับผิดชอบให้กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยดำเนินการตั้งคณะกรรมการ ส่วนกรุงเทพมหานครสร้างสนามบางกอกฟุตซอลอารีน่าและประชาสัมพันธ์การแข่งขัน
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ทำหน้าที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานและประสานงานการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานอำนวยการที่แต่งตั้งโดยสมาคมฟุตบอลซึ่งถือเป็นหน่วยงานเอกชนไม่สามารถสั่งการข้าราชการภายใต้สังกัดกระทรวงได้ทำให้เกิดความล่าช้า
สมาคมฟุตบอลที่ได้รับการอุดหนุนโดยตรงจากฟีฟ่าเป็นเงินประมาณ 45 ล้านบาทเพื่อใช้ในการรับรองและประชาสัมพันธ์การแข่งขัน ถูกโจมตีว่าเป็นด่านแรกที่ทำให้เกิดความล่าช้าเนื่องจากไม่สามารถประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ และ กรุงเทพมหานคร ในการดำเนินการของสมาคมมีการประชุมเพียงแค่ 6 ครั้งซึ่งเป็นการประชุมเตรียมการสนามโคราช ชาติชายฮอล จ.นครราชสีมาเท่านั้น ในขณะที่นายวรวีร์ มะกูดียังไม่ยอมเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการการกีฬาวุฒิสภา
แผนการก่อสร้างต้องเริ่มต้นในปลายปี 2553 ทันทีเพื่อให้ทันการแข่งขัน ในขณะที่สำนักงบประมาณยืนยันว่าเตรียมงบการก่อสร้าง 1,239 ล้านบาทไว้เมื่อต้นปี 2554 แต่แบบการก่อสร้างถูกส่งไปที่สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครซึ่งต้องล่าช้าออกไปอีกเพราะหน่วยงานต่อมาคือสำนักโยธาไม่สามารถนำไปก่อสร้างตามแบบได้เนื่องจากแบบที่มีอยู่นั้นไม่พร้อมสำหรับการก่อสร้างจริง ทำให้ต้องออกแบบสนามขึ้นมาใหม่โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีทำให้เสียเวลาไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน
ด้านสำนักโยธาชี้แจงว่าต้องใช้เวลาก่อสร้าง 13 เดือนแต่ต้องชะงักเพราะปัญหาน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว ในขณะที่เหลือ 9 เดือนสุดท้ายคณะกรรมาธิการการกีฬาประเมินว่าสนามอาจจะสร้างไม่เสร็จ แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยืนยันอีกครั้งว่า ผู้รับเหมาคือบริษัทอีเอ็มซีมีเทคนิกใหม่ และสามารถสร้างเสร็จอย่างแน่นอนจึงเริ่มต้นก่อสร้างในวันที่ 24 ม.ค. 2555 ซึ่งขัดกับความเห็นของสำนักโยธา
"ถ้าจะถามว่าให้ฝ่ายบริหารกล้าลงโทษไหม เพราะวรวีร์เป็นฝ่ายรัฐบาล ส่วนกทม.เป็นฝ่ายค้าน ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ" นฤมล ศิริวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา กล่าว
แม้ว่าสมาคมฟุตบอลจะมีสิทธิ์ในการแต่งตั้งคณะทำงานตามหลักสากลที่สหพันธ์กีฬาให้อำนาจสมาคมกีฬ่าเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเกมส์ระดับนานาชาติ ยกเว้นเพียงมหกรรมกีฬาใหญ่อย่าง ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และ โอลิมปิกเท่านั้นที่รัฐบาลต้องทำหน้าที่บริหารและดำเนินการ แต่ผลที่เกิดขึ้นหลายฝ่ายมองว่าการบริหารของสมาคมขาดประสิทธิภาพ ขณะที่ขั้นตอนการทำงานของกรุงเทพมหานครมีส่วนทำให้แผนการก่อสร้างล่าช้า และปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน