ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุริยะใส" ไม่เชื่อค่าบริการโทรศัพท์มือถือลด 15-20% ชี้เอกชนมีอำนาจต่อรองสูงกว่า

เศรษฐกิจ
23 ต.ค. 55
12:45
37
Logo Thai PBS
"สุริยะใส" ไม่เชื่อค่าบริการโทรศัพท์มือถือลด 15-20% ชี้เอกชนมีอำนาจต่อรองสูงกว่า

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เชื่อว่าอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จีที่จะลดลงร้อยละ 15-20 ตามที่ กสทช.ต้องการนั้น ไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากปัจจุบัน ภาคเอกชนมีอำนาจต่อรองที่สูงกว่า และไม่ควรนำประเด็นนี้ มาเพื่อหวังผลลดกระแส การประมูลที่ไม่โปร่งใส ขณะที่ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรียกร้องให้เร่งเดินหน้าใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี เพราะผู้ประกอบการไทย จะได้เปรียบในเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ หลังกรอบเออีซีมีผลบังคับใช้ในปี 2558

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวถึง ความต้องการที่จะให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ในระบบ 3 จี ลงร้อยละ 15-20 ตามที่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ของ กสทช. ต้องการนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากที่ผ่านมา ภาคเอกชนมักมีอำนาจต่อรองสูงกว่าเสมอ และหากเอกชนไม่ปฏิบัติตาม กทค.จะมีมาตราการลงโทษ หรือ ถอนใบอนุญาตหรือไม่

ขณะเดียวกันการกำกับอัตราค่าบริการ หรือ คุณภาพการบริการ ก็อยู่ในแผนแม่บทโทรคมนาคมอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กทค. ไม่ว่าจะมีการประมูล 3 จี หรือไม่ จึงไม่ควรนำประเด็นนี้ มาต่อรองกับเอกชน หรือ หวังผลลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การประมูลที่ไม่โปร่งใส

ส่วนการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบ กรณีฮั้วประมูล ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ กทค. ได้ลงมติรับรองผลการประมูลไปแล้ว และเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า คณะทำงานที่ตั้งขึ้น จะไม่ถูกครอบงำโดย กทค. ซึ่งได้ยืนยันมาตลอด ถึงการประมูลที่โปร่งใส และประเทศชาติได้รับผลประโยชน์
 
ก่อนหน้านี้ นายสุริยะใส ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ปปช. ขอให้สอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของ กรรมการ กสทช. ทั้ง 11 คน เกี่ยวกับการออกหลักเกณฑ์การประมูล ที่มีลักษณะกระทำความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูล พร้อมยื่นเรื่องให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เป็นตัวแทน ไปฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่ง กสทช.ระงับการแจกใบอนุญาตชั่วคราว จนกว่ากระบวนการสอบสวนต่างๆ จะเสร็จสิ้นและสร้างความกระจ่างต่อสังคม

ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้การออกใบอนุญาต 3 จี ต้องล่าช้าออกไป เพราะเทคโนโลยีนี้ มีส่วนสำคัญ และจำเป็นต่อภาคธุรกิจ ที่ถูกใช้เป็นแต้มต่อในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558


ข่าวที่เกี่ยวข้อง