15 วันหลังยุบสภา กับ ความรุนแรงในการเลือกตั้ง
ร่องรอยกระสุนอาก้ากว่า 10 นัดที่ปรากฎอยู่บนรถยนต์โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ ตั้งแต่บริเวณหน้ารถด้านขวาฝั่งคนขับยาวไปจนถึงท้ายรถทำให้นายวิโรจน์ ดำสนิท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เสียชีวิต และ นางพรเพ็ญ ดำสนิท ภรรยาได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะเดินทางกลับบ้าน หลังจากไปร่วมงานศพที่วัดวิจารณ์โสภณ เหตุการณ์ครั้งนี้ตำรวจพุ่งเป้าในเรื่องการเมืองเป็นหลัก เพราะนายวิโรจน์เป็นหัวคะแนนรายสำคัญของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
นับตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารหัวคะแนน และ ผู้สมัครเลือกตั้งแล้วถึง 3 ครั้งครั้งแรกเป็นการลอบยิงนายประชา ประสพดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยจังหวัดสมุทรปราการแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเป็นการปาระเบิดข่มขู่หัวคะแนนพรรคเพื่อไทย จังหวัดสมุทรปราการ และล่าสุดเหตุลอบยิงนายวิโรจน์ หัวคะแนนของพรรคชาติไทยพัฒนา จังหวัดอ่างทอง
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 12 วันเท่านั้น ทั้งที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้กวดขันกวาดล้างมือปืน อาวุธสงคราม และ ป้องกันเหตุความรุนแรงในช่วงเลือกตั้ง
นับตั้งแต่เริ่มศึกเลือกตั้ง 2554 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรการปราบปรามมือปืน และ ผู้มีอิทธิพลหลายวิธีทั้งการออกปฏิทินหมายจับ 50 มือปืนรายสำคัญซึ่งมีเงินรางวัลนำจับถึงคนละ 100,000 บาท การตั้งด่านปิดล้อมตรวจค้น และ การล่อซื้ออาวุธปืน และ อาวุธสงคราม แต่ดูเหมือนว่า มาตรการเหล่านี้จะไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก
ตำรวจที่ทำงานด้านการปราบปรามมือปืนรับจ้าง มองว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำงานไม่สำเร็จ เพราะการทำงานปราบปรามมือปืนทำได้ยาก ด้วยสาเหตุที่ผู้อยู่เบื้องหลังหรือเจ้าของซุ้มมือปืนเป็นผู้มีอิทธิพล และ สามารถส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานได้ ประกอบกับการเลือกบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่บางคนไม่เหมาะสม
นับถอยหลังจากนี้ไปอีก 41 วันตำรวจต้องปฏิบัติงานกันอย่างหนักเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นมาอีกโดยเฉพาะในพื้นที่ 10 จังหวัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรง คือ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมาบุรีรัมย์ สมุทรปราการ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และ อุดรธานี