จนท.เร่งทำฝนหลวงช่วยชาวบ้านที่ประสบภัยแล้ง หลังกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง
เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำเครื่องบินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นบินทำฝนหลวง ในอ.พยัคฆภูมิพิสัย และอ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หลังประสบปัญหาภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วง มานานกว่า 2 เดือน ส่งผลให้ข้าวในนายืนต้นตาย เสียหายเป็นบริเวณกว้าง
จ.มหาสารคาม ประกาศให้ 4 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว มีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1 แสนไร่ เช่นเดียวกับที่จ.อุดรธานี ใช้เครื่องบิน 2 ลำ ขึ้นทำฝนหลวง แต่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เป็นอุปสรรคต่อการทำฝนหลวงครั้งนี้
ส่วนที่จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจพื้นที่การเกษตร ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เบื้องต้นมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง แล้ว 29 อำเภอ 252 ตำบล นาข้าวเสียหาย กว่า 6.5 แสนไร่
ภัยแล้งที่กำลังขยายวงกว้างส่งผลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ เลย สกลนคร อุดรธานี และบึงกาฬ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินจากภาวะฝนทิ้งช่วง
ส่วนในภาคเหนือพื้นที่การเกษตรหลายจังหวัด เริ่มขาดน้ำ ชาวสวนส้มโอ ในอ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ต้องเร่งนำฟางข้าว ไปคลุมพื้นดินบริเวณสวนส้มโอท่าข่อย เพื่อลดความร้อน และรักษาความชุ่มชื้นให้ต้นส้มโอ เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เริ่มแห้งขอด ประกอบกับอากาศที่ร้อน ทำให้น้ำระเหยเร็วขึ้น
ชาวสวนผักในต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ก็ต้องเปลี่ยนการปลูกผักคะน้า และกวางตุ้ง มาเป็นผักชีแทน เพราะเป็นพืชใช้น้ำน้อยหลังแหล่งน้ำธรรมชาติเหลือน้อย
ส่วนสภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวันสลับกับเย็นในช่วงกลางคืน ก็ทำให้แมลงศัตรูพืช อย่างเพลี้ย และแมลงเต่าทอง ระบาดในสวนผัก และถั่วฝักยาว ในต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา จ.น่าน แม้จะใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่ก็ยังเสียหายจำนวนมาก ทำให้ชาวสวนต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น