เกษตรกรในสบเตี๊ยะขุดแนวทำนบกั้นน้ำ เพื่อเลี้ยงต้นข้าวกว่า 4,000 ไร่ หลังระดับน้ำในแม่น้ำปิงลดลง
แม่น้ำปิงในพื้นที่อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกร ในต.สบเตี๊ยะ ต้องนำเครื่องจักรเข้าขุดแนวทำนบ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวกว่า 4,000 ไร่ ของชาวบ้าน แต่ปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลทำให้ต้นข้าวยืนต้นตายแล้วบางส่วน
เช่นเดียวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ขยายวงกว้างในอ.วังทอง จ.พิษณุโลก ชาวบ้านคลองเมือง ต.วังพิกุล แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสีย ของเทศบาลนครพิษณุโลกที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงนาข้าวหลายพันไร่ ชาวนาบอกว่า ระหว่างที่รอชลประทานปล่อยน้ำมาให้ จำเป็นต้องใช้น้ำอย่างประหยัด และหาแหล่งน้ำที่มีอยู่ เพื่อให้การปลูกข้าวในแต่ละรอบมีกำไรสูงสุด
ส่วนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นาข้าวต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ยืนต้นตายจากภาวะฝนทิ้งช่วง ประกอบกับพื้นที่ปลูกข้าวอยู่นอกชลประทาน เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลได้สำรวจพื้นที่การเกษตร พบว่า ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 9,000 ไร่
เช่นเดียวกับนาข้าวในอ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งครั้งรุนแรง ในรอบหลายสิบปี นาข้าวแห้งตายกว่า 5,000 ไร่ ขณะที่คลองส่งน้ำธรรมชาติเริ่มแห้งขอด จนไม่สามารถผันน้ำเข้าที่นาได้ ขณะที่ชาวนาต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ต้องลงทุนซื้อน้ำจากบ่อของเพื่อนบ้าน ในราคา 2,000 บาท เพื่อสูบน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว ป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายทั้งหมด
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีที่ลดลงต่อเนื่องส่งผลให้เจ้าหน้าที่ฝายโสธร-พนมไพร ต.เขื่องคำ อ.เมือง จ.ยโสธร ต้องปิดประตูระบายน้ำ 2 บานจากทั้งหมด 6 บานเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้ง
เช่นเดียวกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงด้านอ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ที่ลดลง จนบางช่วงเห็นเนินทราย เกษตรกรบางคนพลิกวิกฤติด้วยการจับจองพื้นที่กลางลำน้ำโขงเพื่อปลูกพืชอายุสั้นทดแทนการออกหาปลาในช่วงหน้าแล้ง