ต่างชาติชี้ไทยเป็นจุดพักชาวโรฮิงญา
รายงานของสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2557 ระบุว่า เฉพาะปี 2557 มีคนที่ถูกเคลื่อนย้ายจากบังคลาเทศและเมียนมาร์เดินทางไปประเทศมาเลเซียและไทย โดยทางทะเลกว่า 53,000 คน เพราะถูกนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์หลอกว่าจะหางานให้ แต่ภายหลังกลับควบคุมตัว ทำร้ายร่างกายและเรียกค่าไถ่ หรือบางคนที่หาเงินมาไม่ได้จะถูกขายไปเป็นทาส
ด้านนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายภาคส่วน ให้ข้อมูลว่า มีเรือสินค้าอย่างน้อย 2 ลำ แต่ละลำบรรทุกคนประมาณ 500 คน ออกเดินทางจากบังกลาเทศทุกสัปดาห์ ปีละประมาณ 8 เดือน ซึ่งหมายความว่ามีการค้ามนุษย์เดือนละประมาณ 4,000 คน หรือปีละ 32,000 คนและหากแต่ละคนจ่ายเงินค่าไถ่รายละ 200,000 ทาคา คิดเป็นเงิน 85,600 บาท ซึ่งเป็นเงินจากการค้ามนุษย์ สูงถึงกว่า 2,700 ล้านบาท
หลังจากเดินทางจากบังกลาเทศ คนเหล่านี้จะถูกนำไปเก็บตัวในบ้านและถูกยึดข้าวของต่างๆ เมื่อถึงวันที่กำหนดไว้จะมีการนำตัวคนเหล่านี้ไปลงเรือ ซึ่งส่วนใหญ่มีกัปตันเป็นคนไทย ทันทีที่ถึงไทยแล้ว คนจะถูกแยกตัวเป็นกลุ่มๆ ตั้งที่พักชั่วคราวในป่า พร้อมเคลื่อนย้ายด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความสะดวกในการส่งตัวต่อไปยังมาเลเซีย บางส่วนกระจายอยู่ตามยอดเขาและเกาะต่างๆในไทย รวมถึงลอยเรืออยู่ในทะเลอันดามัน เผื่อไว้สำหรับกรณีที่เหยื่อบางรายถูกตำรวจจับจะได้มีเหยื่อรายอื่นเหลืออยู่
เดลี่ สตาร์ หนังสือพิมพ์ในอังกฤษ ประเมินว่า มีชาวบังกลาเทศ 250,000 คนตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้รวบรวมจากข้อมูลที่ได้จากเหยื่อและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ประมาณครึ่งหนึ่งนั้นเป็นชาวโรฮิงญาร้อยละ10-15
นายแมทธิว สมิธ ผู้อำนวยการกลุ่มฟอร์ติฟาย ไรต์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีคนหลายหมื่นคนตกอยู่ในสภาพเลวร้าย ถูกทุบตี และถูกทรมานเพื่อเรียกเงินและบางกรณีมีเจ้าหน้าที่ไทยสมรู้ร่วมคิดด้วย