พิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความรัก
ฉากนางพิมปลดผ้าสไบถวายบูชากัณฑ์เทศน์ ในภาพยนตร์เรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อ 10 ปีก่อน ไม่เพียงทำให้ผู้ชมจดจำ บงกช คงมาลัย นางเอกของเรื่องได้แจ่มชัดขึ้น แต่ยังสร้างความประทับใจให้ บุญชัย เบญจรงคกุล นักธุรกิจผู้หลงใหลในงานศิลปะ ให้เพื่อนศิลปินช่วยถ่ายทอดภาพนางพิม นางในวรรณคดีที่สวมใส่ผ้าสไบสีแดงคล้ายตั๊ก บงกช ภายในเรื่อง และมีอีกหลายภาพที่ถ่ายทอดประวัตินางพิมต่างออกไปจากการเป็นหญิงสองใจ หากแต่มองในมุมสาวงามที่โดนเอาเปรียบโดยเพศชาย นิทรรศการถาวรในห้องขุนช้างขุนแผน จึงเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกของบุญชัยที่มีต่อนางในดวงใจ
แค่เห็นลายเส้นที่ตวัดปลายพู่กันด้วยสีโทนแดงดำ ภาพสัตว์ดุร้ายทั้งเหยี่ยว ช้าง และเสือ ก็รู้ทันทีว่านี่คือห้องศิลปะผลงาน ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ที่จัดแสดงบริเวณชั้น 4 ของพิพิธภัณฑ์ พื้นที่เรียนรู้ใหม่ของผู้สนใจศิลปะ เป็นครั้งแรกที่ นักศึกษาปีที่ 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ชมผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติหลายท่านอย่างใกล้ชิด ซึ่งพวกเขามองว่าโอกาสเข้าถึงงานศิลปะที่อยู่ในมือของนักสะสมไม่ใช่เรื่องง่าย
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย เปิดให้เข้าชมมาร่วม 8 เดือน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ชั้น จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งประติมากรรม และจิตรกรรมของศิลปินชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งผลงานทั้งหมดมาจากความรักในงานศิลปะของนักธุรกิจ วัย 58 ปี ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินแต่ไม่มีโอกาส จึงเลือกสะสมงานศิลปะที่ชื่นชอบมากว่า 35 ปี และนำมาจัดแสดงให้ผู้ที่รัก และสนใจศิลปะได้เรียนรู้ร่วมกัน ในต่างประเทศยังมีนักธุรกิจไม่น้อยที่สนับสนุนด้านศิลปะ เช่น J.Paul Getty นักธุรกิจชาวอเมริกันที่ก่อตั้ง Getty Museum ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่นักธุรกิจเลือกสนับสนุนศิลปิน และสะสมศิลปะ ยังมาจากความสุขที่ได้เห็นผู้อื่นชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน