ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สศอ. เผยผลการศึกษากรณีปรับค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลต่ออุตสาหกรรม

15 พ.ย. 55
13:53
61
Logo Thai PBS
สศอ. เผยผลการศึกษากรณีปรับค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลต่ออุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมกระทบ หากค่าจ้างแรงงานปรับรวดเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ แนะเอกชนเร่งปรับตัวยกระดับทักษะแรงงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมในประเทศ พร้อมกระจายฐานการผลิตบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานราคาถูกกว่า

 นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยจากความท้าทายด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ และนำเสนอแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ แม้ที่ผ่านมาการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยค่อนข้างประสบความสำเร็จจากการใช้แรงงานราคาถูกในประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมาสร้างและขยายเครือข่ายการผลิต จนสามารถผลิตสินค้าส่งออกได้มูลค่ามหาศาล

ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมายจากสภาพแวดล้อมใหม่ในการแข่งขันที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายด้านแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานในประเทศทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ แรงกดดันจากการแข่งขันกับประเทศจีนที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และอินเดียซึ่งกำลังพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมาแข่งขันในอนาคต ตลอดจนนโยบายการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่กำลังจะมาถึงนี้

โดยผลการศึกษาพบว่า นโยบายการขึ้นค่าจ้าง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอุตสาหกรรม การจ้างงาน ราคาสินค้า รวมทั้งการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง และไม้ ซึ่งจำเป็นต้องวางเป้าหมายการเพิ่มผลิตภาพแรงงานดังกล่าว

โดยนำเสนอ 3 แนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการว่า แนวทางแรก นอกจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) แล้ว ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงที่มีอยู่ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งในภูมิภาค รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน ซึ่งสามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ หากวางระบบการขนส่งอย่างรอบด้านผู้ประกอบการจะสามารถกระจายการผลิตที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ พร้อมกับการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรในการนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกสินค้าได้อย่างเต็มที่

แนวทางที่สอง ยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญน้อยมาก โดยเห็นได้จากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ

แต่ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถยกระดับตัวเองได้ เนื่องจากขาดเงินทุน ทักษะด้านการตลาด การออกแบบ รวมถึงการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และแนวทางที่สาม คือการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยการอุดหนุนการฝึกอบรมทักษะและทัศนคติในการทำงานแก่แรงงานตามความสามารถ ทักษะ และความถนัดของแรงงานนั้นๆ โดยการแจกคูปองการฝึกอบรม พร้อมกับสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เพื่อลดต้นทุนด้วย

จากการศึกษาพบว่า เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ภายใต้ความท้าทายต่างๆ นั้น กระบวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรปรับขึ้นรวดเดียว แต่ควรทำอย่างเป็นระบบเพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทัน โดยค่าแรงแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับผลิตภาพและอัตราเงินเฟ้อในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ควรพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยการปรับปรุงคุณภาพระบบคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะถนนและระบบราง และผลักดันให้เกิดการบังคับใช้ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างกัน (BTCA) โดยสมบูรณ์ รวมทั้งควรสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งล้วนเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจ และในปัจจุบันมีการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของประเทศเหล่านี้ เพื่อรองรับการตั้งโรงงานผลิตแล้วหลายแห่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง