"นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2555 จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,247 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ ในกรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.40 มีความกังวลว่าสินค้าจะมีการปรับตัวสูงขึ้น รองลงมาร้อยละ 48.04 ระบุว่า อาจทำให้ผู้ประกอบการจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เพราะมีค่าแรงที่ถูกกว่า และร้อยละ 45.07 ระบุว่าไม่กังวล เพราะลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างเกินหรือใกล้เคียงวันละ 300 บาทอยู่แล้ว
ผลสำรวจสรุปว่าการขึ้นค่าแรงงาน 300 บาท จะช่วยให้เกิดการออมมากขึ้นหรือไม่นั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.45 คิดว่าจะไม่ช่วยให้เกิดการออมมากขึ้น เพราะค่าครองชีพยังแพงอยู่ และมีเพียงร้อยละ 25.66 ที่มองว่าจะช่วยให้เกิดการออมมากขึ้น เพราะเนื่องจากได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จึงมีเงินเหลือเก็บเป็นบางส่วน
ส่วนการเลิกกิจการของผู้ประกอบการที่มีผลมาจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 48.84 ระบุว่าไม่มีผลเพราะผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวให้อยู่ได้ และประชาชนร้อยละ 39.37 ระบุว่ามีผลทำให้เลิกกิจการเพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะธุรกิจ SME
สุดท้ายการปรับตัวของแรงงานจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.76 ระบุว่า แรงงานควรทำงานให้คุ้มค่าจ้าง รองลงมาร้อยละ 38.73 ควรขยันทำงานให้มากขึ้น และร้อยละ 23.02 ควรหมั่นเรียนรู้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ