โรงไฟฟ้าชีวมวล ความมั่นคงทางพลังงานที่ปราศจากการมีส่วนร่วม
นอกจากฝุ่นละอองที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตเเล้ว ชาวบ้านโคกตะเเบง ในอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ยังต้องประสบกับปัญหาขาดเเคลนน้ำดื่มเเละน้ำใช้ เนื่องจากเเหล่งน้ำสาธารณะภายในหมู่บ้าน มีเขม่าเเละตะกอนดำปนเปื้อนจำนวนมาก ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก
ชาวบ้านคนนี้เล่าว่า ฝุ่นเเละเขม่าที่ฟุ้งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเธอเเละเพื่อนบ้านอย่างมาก หลายครอบครัวต้องยอมซื้อเครื่องกรองน้ำมาติดที่บ้าน เพราะไม่กล้าดื่มน้ำฝนที่รองไว้โดยตรง ส่วนบ้านไหนที่ไม่มีทุนพอที่จะซื้อ ถุงพลาสติกก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง ที่ชาวบ้านนำมาคลุมป้องกันฝุ่นเเละเขม่าที่ฟุ้งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่
"น้ำเป็นตะกอนสีดำมากจนไม่กล้าใช้ เลยต้องซื้อเครื่องกรองน้ำมากรอง เมื่อก่อนตอนไม่มีโรงงานก็ไม่มีตะกอนแบบนี้ ก็โทษโรงงาน เพราะตอนมีโรงไฟฟ้าก็ไม่รู้เลยว่ามีโรงไฟฟ้า รู้แต่ว่ามีโรงงานน้ำตาลเท่านั้น" ดาว บุตรเทศ ชาวบ้านโคกตะเเบง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผู้ประกอบการ ยื่นขอใบอนุญาติจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลมากถึง 10 เเห่ง ด้วยเหตุผลตามนโยบายความมั่นคงทางด้านพลังงาน ความพยายามที่จะให้พลังงานทดเเทนเป็นทางเลือก ในการเเก้ไขปัญหาผลกระทบต่างๆ หลายพื้นที่จึงมีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากกว่า 2 เเห่ง
"จังหวัดสุรินทร์เราเอง ไฟฟ้าเหลือเฟือ เหลือใช้ แต่บังเอิญว่าเขาเตรียมตามนโยบายของรัฐบาลว่า เขาเตรียมไฟฟ้ายั่งยืนเอาไว้ ผมเองไม่เข้าใจว่าทำไมต้องวางมาตรการหรือนโยบายล่วงหน้าขนาดนั้น โดยไม่เคยสอบถามเลยว่าปรชาชนเดือดร้อนด้านไฟฟ้าจริงไหม ต้องการมากขึ้นนั้นไหม ผมว่ามันเกินเลยจากความเป็นจริงไป" วัฒน์ บัวศร ผญ.บ้านโคกตะเเบง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์
เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์มองว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องดี เเต่เนื่องจากขั้นตอนในการอนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน อีกทั้งที่ผ่านมาหลายโรงงานยังไม่มีมาตรการในการป้องกันผลกระทบที่ดีพอ โรงไฟฟ้าชีวมวลจึงยังเป็นเเค่คำนิยามที่ยังไม่สามารถเป็นทางเลือกได้อย่างเเท้จริง
"การที่เราผลิตเยอะเกินมันมีความจำเป็นไหม สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ที่เป็นอยู่ไหม การเลือกโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ควรจะต้องจัดการให้ดี ให้พี่น้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด" วิจิตรา ชูสกุล เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์
ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องผลิตเเล้ว 2 เเห่ง กำลังทดลองเดินเครื่องอีก 2 เเห่ง เเละอยู่ในระหว่างดำเนินงานก่อสร้างอีก 1 เเห่ง นอกจากนี้ยังมีอีก 5 เเห่งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนขอใบอนุญาตจัดตั้ง
ข้อมูลจากเครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์ระบุว่า จากการสำรวจปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัดสุรินทร์เมื่อปี 2554 พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนสุรินทร์อยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ หากนำขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 10 เเห่งมารวมกัน คาดการณ์ว่าตัวเลขโดยรวมจะอยู่ที่ 124 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัดถึง 34 เมกะวัตต์