ปิดฉากประชุมสุดยอดเอเซียตะวันออก
จนกระทั่งนาทีสุดท้ายอาเซียนก็ยังไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกันได้ในแนวทางการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อ 4 เดือนก่อนจนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนมา 45 ปียังไม่สามารถประสานได้ในขณะที่ฟิลิปปินส์และจีนต่างใช้เวทีทั้งในที่ประชุมและนอกห้องประชุมในการแสดงจุดยืนของตนอย่างแข็งกร้าว
ทันทีที่จบการประชุมสุดยอดเอเซียตะวันออกที่มีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศหารือร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐฯและรัสเซีย รัฐมนตรีต่างประเทสฟิลิปปินส์ อัลเบิร์ต โรซาริโอได้อ่านแถลงการณ์ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ต่อผู้สื่อข่าว
เนื้อหาโดยสรุปของแถลงการณ์ คือ ผู้นำฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ประเทศที่เรียกร้องสิทธิให้ความเคารพในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีป ตามกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ และเรียกร้องให้ประเทศที่อ้างสิทธิหารือกันภายใต้กรอบกฎหมายดังกล่าว
เพียงไม่กี่นาทีหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลงเสร็จ ฟู่หยิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนก็เปิดการแถลงข่าวในจุดที่ใกล้ๆกันทันที
รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศจีนบอกว่า 10 ปีที่ผ่านมาจีนทำงานร่วมกับอาเซียนและได้ร่วมกันตัดสินใจในปัญหาด้วยสันติวิธีสำหรับปัญหาทะเลจีนใต้จีนไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาในกรอบที่มากกว่าอาเซียนกับจีน
ความตึงเครียดในการประชุมเริ่มตั้งแต่การหารือภายในของอาเซียนที่กัมพูชาประธานอาเซียนประกาศว่าสามารถได้ฉันทามติจากสมาชิกว่าจะแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ผ่านกรอบอาเซียนจีนซึ่งทำให้ผู้นำฟิลิปปินส์ต้องทักท้วงว่านั่นไม่ใช่ฉันทามติเพราะฟิลิปปินส์ไม่ได้เห็นด้วย
ในขณะที่การประชุมสุดยอดเอเซียตะวันออกในวันนี้(20 พ.ย.)ประธานาธิบดี บารัก โอบาม่า ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือโดยต้องการเห็นการแก้ปัญหาทางการทูตและเดินหน้าเจรจาหาข้อปฏิบัติที่มีความผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งการที่สหรัฐฯพูดถึงเรื่องนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้กับจีนที่ไม่ต้องการให้ประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามายุ่งกับปัญหานี้ แต่ในการแถลงข่าวหลักการหารือแบบทวิภาคีระหว่างจีนกับสหรัฐฯผู้นำทั้ง 2 ประเทศได้หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหานี้
ถึงแม้ปัญหาทะเลจีนใต้ได้สร้างบรรยากาศที่ตึงเครียดในการประชุมแต่สำหรับกาหารือเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจมีความคืบหน้าไม่ว่าจะเป็นการประชุม Global Dialogue ที่เป็นการหารือระหว่างอาเซียนกับองค์กรด้านการเงินและการพัฒนาระหวางประเทศไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก กองทุนการเงิรระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซียหรือเอดีบี การประชุมเพื่อการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรืออังค์ถัด และองค์การการค้าโลกเพื่อรักษาระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนที่เป็นอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและเป็นกลไกที่สำคัญรวบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในการขับเคลื่อนเพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก