เสนอกทค. ออกมาตรการกำกับราคาค่าบริการ 3จี ดีกว่าใช้ใบอนุญาตบังคับบริษัท
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือถึงเพื่อให้กรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบ เรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เพื่อร้องขอให้ตรวจสอบการฮั้วและธรรมาภิบาลในการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่น 2.1 MHz เพื่อให้บริการ 3G ว่าขณะนี้ กรรมาธิการได้ส่งเรื่องไปให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และปปช.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน โดยได้นัดผู้บริโภคไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม วันที่ 3 ธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตามบริการ 3G เป็นบริการที่จะเกิดประโยชน์ทั้งกับผู้ใช้บริการทั่วไป การแพทย์ในถิ่นห่างไกล และคนพิการ แต่ที่ผ่านมามีปัญหาให้สังคมคลางแคลงใจ เพราะการกำหนดเกณฑ์วิธีการประมูลของ กสทช. เอง ที่สร้างความกังขาให้กับสังคม
“ ย้ำว่า เราเห็นว่ามีประโยชน์และอยากใช้บริการ แต่ กสทช.ไม่น่าดันทุรังพา 3G ไปสู่ทางตัน เพราะการกำหนดเกณฑ์การประมูลของ กสทช. เอง ที่สร้างความกังขาให้สังคม ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ทั้งผ่านวุฒิสภา องค์กรอิสระและศาล และทำให้ 3Gต้องถูกแช่แข็งถอยไม่ได้ไปไม่เป็น ประเทศเสียประโยชน์ ทั้งที่ผู้บริโภคเรียกร้องให้ กสทช. จัดประมูลใหม่ บนเกณฑ์ที่ทำให้เกิดการแข่งขัน แต่กสทช.ยังคงยืนยันว่าได้ดำเนินการถูกต้องแล้วเป็นการเอาแพ้ชนะ ทั้งที่หากยอมรับว่า มีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วแก้ไข ประชาชนก็พร้อมให้กำลังใจกสทช. ทำหน้าที่อย่างสง่างามต่อไป ”ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าว
นางสาวบุญยืน กล่าวถึงกรณีที่ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม ได้กำหนดเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาต 3G ว่า ต้องรอคำสั่งศาลปกครอง รอผลการสอบของคณะทำงานสอบฮั้วประมูล และมีแผนลดค่าบริการทั้งเสียงและข้อมูลของผู้ให้บริการก่อนว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่สังคมกังขาคือ วิธีการออกแบบการประมูลที่ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันหรือทำให้เกิดการฮั้วประมูล ซึ่งผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบคือ กสทช. ว่าได้กำหนดวิธีการประมูลได้ถูกต้องเหมาะสมและก่อให้เกิดการแข่งขันหรือไม่ แต่ขณะนี้ กสทช.กำลังใช้บริการ 3G มาเป็นตัวประกันให้กับการถูกตรวจสอบของตัวเอง โดยมีผู้เสียหายคือผู้บริโภคและบริษัท
“ ใครที่แช่แข็งประเทศชาติจากบริการนี้ พอ กทค.ถูกตรวจสอบก็สร้างเงื่อนไขว่าจะไม่ให้ใบอนุญาตจนกว่าศาลจะมีการตัดสิน ทั้งที่เป็นการสอบสวนเพื่อตัดสินเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงาน ไม่เกี่ยวกับบริษัท พอถูกกล่าวหาว่ากำหนดราคาการประมูลต่ำเกินไป ก็เอาเรื่องราคาค่าบริการมาเป็นเงื่อนไขซ้ำอีก โดยไปกำหนดให้บริษัททำแผนการลดราคามาเสนอก่อนไม่เช่นนั้นจะไม่ให้ใบอนุญาต ทั้งที่ กทค.เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ใช่หน่วยงานสร้างเงื่อนไขการให้บริการ โดยเฉพาะเรื่องราคาค่าบริการนั้น เมื่อบริษัทสมประโยชน์แล้ว การให้ลดราคาให้เป็นเรื่องยาก เพราะใครทำธุรกิจสิ่งที่ต้องการชัดเจนก็คือ กำไร กทค. จึงต้องกำหนดเป็นมาตรการในการกำกับราคาค่าบริการทั้งเสียงและข้อมูลออกมามากกว่า การมาบังคับให้บริษัททำแผนการลดราคาค่าบริการโดยใช้เรื่องการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่เป็นเครื่องมือ ” นางสาวบุญยืนกล่าว