ทีดีอาร์ไอแนะวางแผนระบายข้าวระยะยาว แก้ปัญหาข้าวล้นสต็อก
การลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ เอ็มโอยู ซื้อขายข้าวระหว่างไทยและรัฐบาลจีน เมื่อวานนี้(21 พ.ย.) นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เห็นว่า เอ็มโอยู ดังกล่าว เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถนำไปใช้การดำเนินนโยบายบริหารจัดการข้าวได้จริง เนื่องจากไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน
"คือไม่มีปริมาณ ไม่มีราคา ไม่มีเวลา เคยพูดกันว่าจะ 3 ปี แล้วจริงๆแล้ว ผมพูดตรงๆนะ การทำนโยบายข้าวย มีการวางแผนระยะยาวไม่ได้ เพราะข้าวแต่ละปีออกมาไม่สม่ำเสมอ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่วางแผนระยะยาวได้ เพราะเรามีสต็อกข้าวบานเบอะ" อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
"เป็นการเจตนารมณ์ของ 2 ข้างอย่างกว้างๆเท่านั้นเอง ยังไม่ประโยชน์อะไร เราก็มีจีทูจี เอ็มโอยูกับหลายประเทศ กับบังคลาเทศบ้าง อินโดนีเซียบ้าง เรามีมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เรื่องอะไรที่น่าตื่นเต้นเลย ยังไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารัฐบาลจะขายข้าวได้จริงหรือไม่จริง ข้อพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาลก็คือ เมื่อมีเอ็มโอยูแล้ว สามารถทำให้เป็นจริงได้หรือไม่" นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
นายอัมมาร ยังระบุด้วยว่า จากความไม่ชัดเจนในการระบายข้าวในโครงการรับจำนำ ทำให้กระทรวงการคลังทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กันยายน 2555 ที่ระบุสาระสำคัญบางข้อในการระบายข้าวจากคลังของรัฐบาล ว่าควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนบริหารจัดการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ
ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดในการดำเนินการระบาย หรือ จำหน่ายข้าวที่อยู่ในโกดังกลางซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก.และองค์การคลังสินค้า หรือ อคส.ควรเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไปและดำเนินการด้วยความโปร่งใส
หากรัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวในสต็อกได้จะส่งผลต่อภาระการคลังของประเทศที่รัฐบาลจะต้องนำงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว