สหรัฐฯ-อิสราเอล คัดค้านสหประชาชาติที่ยกสถานะปาเลสไตน์เป็นประเทศ
ประธานาธิบดีมาห์หมูด อับบาส ของปาเลสไตน์ กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ที่ประชุมแห่งนี้เคยก่อตั้งประเทศอิสราเอล แต่แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 2 รัฐ ดังนั้นที่ประชุมแห่งเดียวกันนี้จึงมีหน้าที่ต้องออกสูติบัตร รับรองการมีอยู่จริงของรัฐชาวปาเลสไตน์ ด้านอิสราเอลคัดค้านว่า แม้ปาเลสไตน์จะเป็นรัฐ แต่ก็ไม่อาจพรากชาวยิวไปจากดินแดนเดิม 4,000 ปี
สมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศ มี 138 ประเทศ รวมจีนและรัสเซีย ออกเสียงสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็น"รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก" โดยมี 9 ประเทศคัดค้าน รวมถึงสหรัฐ อิสราเอล และ 41 ประเทศงดออกเสียง
ซึ่งมตินี้ได้ยกปาเลสไตน์จากสถานะเดิมคือ "เอ็นทิตี้" ซึ่งแปลว่าอะไรก็ได้ที่มีอยู่จริง ขึ้นมาสู่ความเป็นรัฐ แต่เป็นการกระทำทางอ้อมหรือโดยพฤตินัย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจทางตะวันตก เห็นชอบให้ชาวยิวทั่วยุโรปที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ของนาซีเยอรมันมาก่อตั้งประเทศอิสราเอล โดยขณะนั้นชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ครอบครอง
ยิ่งกว่านั้นทั้งเขตฉนวนกาซ่าและเขตเวสต์แบงค์ และฟากตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็ม ที่ชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในปัจจุบันก็อยู่ภายใต้อธิปไตยของอิสราเอล ซึ่งผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตัวเอง เมื่อครั้งชนะสงครามปีค.ศ. 1967
รัฐมีองค์ประกอบคือประชากร ดินแดน และอำนาจรัฐ ส่วนการรับรองของนานาชาติ รวมทั้งสหประชาชาติไม่มีความจำเป็นแต่สาเหตุที่มีความสำคัญก็เพราะกฏหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกฏบัตรสหประชาชาติบัญญัติไว้ว่า รัฐหรือสเตทเท่านั้นที่ทรงความสามารถในการทำกิจกรรมใดๆ
เมื่อปาเลสไตน์มีสถานะเป็นรัฐจึงทรงสิทธิที่จะดำเนินกิจกรรมทั้งหลาย ได้เหมือนประเทศทั่วไป ทำให้อิสราเอลและสหรัฐ ซึ่งหนุนหลังอิสราเอลตลอดมา เกรงว่า เมื่อปาเลสไตน์ได้สถานะนี้แล้ว ก็จะไปฟ้องคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
ซึ่งขณะนี้ชาวปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซ่าก็ยังไม่ฟื้นจากหายนะที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศนาน 8 วัน เมื่อหลายวันก่อน