เรือเหาะตรวจการณ์ตก ขณะขึ้นบินรักษาความปลอดภัยนายกฯ
เรือเหาะตรวจการณ์บินสำรวจทางอากาศในช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งลงพื้นที่อำเภอหนองจิกและอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี จากนั้นได้นำเครื่องลงพัก และในช่วงบ่ายเรือเหาะได้ขึ้นบินอีกรอบ แต่ขณะนำขึ้นในความสูงเพียง 15 เมตร ประมาณ 10 นาที ได้ถูกกระแสลมกระโชกอย่างแรง จนเรือเหาะตกลงมา ทำให้อุปกรณ์ที่ติดตั้งในเรือเหาะเสียหายเกือบทั้งหมด แต่ตัวเรือเหาะไม่ได้รับความเสียหาย ขณะที่ผู้ควบคุมเรือเหาะกระโดดลงมาได้ก่อน จึงไม่ได้รับบาดเจ็บ
มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณกลางปี 2552 กรณีฉุกเฉินและจำเป็นตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน เสนอเพื่อจัดหาระบบเรือเหาะพร้อมกล้องตรวจการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยอ้างว่า ขาดยุทโธปกรณ์ตรวจการณ์ทางอากาศ ในการดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้งบจัดซื้อ 350 ล้านบาท จากบริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก สมรรถนะการลอยหรือบินอยู่ในอากาศ จะสามารถบินได้สูงพ้นรัศมี ทำการของปืนเอ็ม 16 และบินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่ายถึงเรื่องประสิทธิภาพความคุ้มค่า และเหมาะสมกับพื้นที่ เพราะกองทัพไม่เคยนำเรือเหาะมาใช้อย่างจริงจังในภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ขณะที่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา กองทัพบกได้ทำสัญญาบริษัท เวิลด์วาย แอร์โรว์ คอร์ป และ บริษัท เอ็มแลนดาร์ช จำกัด เพื่อว่าจ้างให้ซ่อมแซมแก้ไขเรือเหาะเพื่อให้สามารถใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ในวงเงินกว่า 50 ล้านบาท โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าบริษัทที่ควรรับผิดชอบคือบริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน ผู้ขายเรือเหาะให้ เพราะขณะที่ตรวจรับก็มีสภาพไม่พร้อมใช้งานแล้ว และตอนที่ชำรุดก็ยังคงอยู่ในระยะประกันตามสัญญา
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกว่า ต้องการทำให้เรือเหาะใช้งานได้ ไม่ใช่แค่ให้จอดในโรงเก็บที่จังหวัดปัตตานีแล้วเลี้ยงรูปทรงด้วยก๊าซฮีเลียม ทุกเดือน ๆ เพราะกองทัพบกต้องใช้งบเดือนละ 2 - 3 แสนบาท ในการเติมก๊าซฮีเลี่ยม ให้เรือเหาะคงรูปทรง ทำให้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กองทัพบกต้องใช้งบประมาณไปแล้วถึง 25 ล้านบาท
มีรายงานว่า กองทัพบกรับทราบข่าวแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำชี้แจงที่ชัดเจน โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า เป็นการลงจอดฉุกเฉินเนื่องจากเครื่องขัดข้อง ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ หลังถูกสื่อมวลชนสอบถามข้อเท็จจริงจากหลายสำนักข่าวแล้ว