ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า เผยส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบกรณีเรือเหาะตรวจการณ์ตก

การเมือง
14 ธ.ค. 55
06:40
126
Logo Thai PBS
กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า เผยส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบกรณีเรือเหาะตรวจการณ์ตก

กรณีเรือเหาะตรวจการณ์ ซึ่งจัดซื้อด้วยงบประมาณ 350 ล้าน เพื่อเป็นยุทโธปกรณ์ตรวจการณ์ทางอากาศประสบปัญหาและตกลงมา ขณะบินในภารกิจดูแลคณะนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อวานนี้(13 ธ.ค.) รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ในวันนี้(14 ธ.ค.) จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านนิรภัยการบินจากกองทัพบกมาตรวจสอบความเสียหาย แต่ยังไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลเข้าบันทึกภาพ

จนถึงขณะนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลเข้าไปบันทึกภาพความเสียหายของเรือเหาะตรวจการณ์ ซึ่งตกในพื้นที่กองพลทหารราบที่ 15 อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ขณะบินขึ้นตรวจการณ์ปฎิบัติภารกิจร่วมรักษาความปลอดภัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งลงพื้นที่ติดตามแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเนื่องจากสภาพเรือเหาะได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าระบุว่า การตกของเรือเหาะตรวจการณ์เป็นเพียงอุบัติเหตุโดยได้รับรายงานจากนักบินว่า ขณะขึ้นบินสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมเรือเหาะได้ ซึ่งในเบื้องต้นเรือเหาะได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน คือระบบใบพัด และห้องโดยสารนักบิน

ส่วนกล้องถ่ายภาพตรวจการณ์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญและมีมูลค่าสูงไม่ได้รับความเสียหาย เพราะไม่ได้นำขึ้นบินด้วย ซึ่งวันนี้(14 ธ.ค.)ผู้เชี่ยวชาญด้านนิรภัยการบินจากกองทัพบก จะลงมาตรวจสอบความเสียหายอีกครั้ง พร้อมประเมินว่าจะยังใช้การได้หรือไม่

เรือเหาะลำนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน ได้เสนอจัดซื้อจากบริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชั่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก โดยใช้งบ 350 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของหลายฝ่ายถึงเรื่องประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า

ขณะที่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา กองทัพบกได้ทำสัญญาบริษัท เวิลด์วาย แอร์โรว์ คอร์ป และ บริษัท เอ็มแลนดาร์ช จำกัด ว่าจ้างให้ซ่อมแซมเรือเหาะในวงเงินกว่า 50 ล้านบาท โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า บริษัทที่ควรรับผิดชอบคือบริษัทเอเรีย อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน ผู้ขายเรือเหาะให้ เพราะขณะที่ตรวจรับก็มีสภาพไม่พร้อมใช้งานแล้ว

กองทัพบกยังต้องใช้งบเดือนละ 200,000-300,000 บาท ในการเติมก๊าซฮีเลี่ยม ให้เรือเหาะคงรูปทรง ทำให้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กองทัพบกต้องใช้งบประมาณไปแล้วถึง 25 ล้านบาท


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง