เกิดพายุงวงช้างสูง 600 ม. ในออสเตรเลีย
พายุงวงช้างก่อตัวขึ้นกลางทะเลนอกชายฝั่งรัฐนิว เซาธ์ เวลส์ของออสเตรเลีย หมุนคว้างเป็นเกลียวน้ำขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ 600 เมตร โดยพายุงวงช้างเกิดจากมวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า เกิดได้ทั้งในทะเล และในแม่น้ำภายในเกลียวน้ำมีความเร็วลมสูงสุดถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แรงพอที่จะพัดพาสิ่งมีชีวิตในทะเลขึ้นมาบนบก ซึ่งพายุงวงช้างก็คล้ายกับพายุทอร์นาโดที่มักเกิดขึ้นเป็นกลุ่มๆ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าสภาพอากาศเลวร้ายจากพายุรุนแรงที่พัดกระหน่ำทั่วพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก และทางตอนเหนือของนครซิดนีย์ ทำให้เกิดพายุงวงช้างขึ้นถึง 3 ลูก
ขณะที่ในคิวบา นอกจากจะเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีแล้ว ยังต้องเผชิญกับพายุลูกเห็บขนาดโตเท่ากับผลมะนาวและผลส้มในหลายพื้นที่ของประเทศ สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับไร่ยาสูบ สวนผลไม้ และสัตว์เลี้ยง เรียกว่าเป็นภัยธรรมชาติที่กระหน่ำซ้ำเติม แม้ว่าพายุฝนและพายุลูกเห็บที่เกิดขึ้นจะสร้างความชุ่มชื่นให้เกิดขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะบรรเทาภัยแล้ง
ส่วนที่อินโดนีเซีย ปากปล่องภูเขาไฟบนที่ราบสูงเดียง บนเกาะชวา พ่นก๊าซร้อนที่มีพิษออกมาและส่อเค้าว่าอาจเกิดการปะทุ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องประกาศเตือนให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวออกห่างจากปากปล่องภูเขาไฟที่มีชื่อว่า “ทิมบัง” และได้ตั้งป้ายเตือนรอบปากปล่อง ที่ราบสูงเดียง ซึ่งเต็มไปด้วยปากปล่องภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เพราะเป็นที่ตั้งของวิหารฮินดูโบราณ รวมทั้งมีทะเลสาบ และบ่อน้ำพุร้อนที่สวยงาม