ความเสี่ยงภัยพิบัติในประเทศไทย
รายงานภัยพิบัติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกประจำปีของสหประชาชาติระบุว่าน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยภาคเอกชนเป็นผู้สูญเสียจากภัยพิบัติครั้งนี้มากถึงร้อยละ 90
แม้ปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยจะเบาบางกว่าปีที่แล้ว แต่ประเทศในทวีปเอเชียยังคงต้องสูญเสียจากภัยพิบัติน้ำท่วม และพายุพัดถล่มมากเป็นอันดับ 1 ถึงร้อยละ 44 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และเศรษฐกิจมากที่สุด น้ำท่วมทำให้มีผู้เสียชีวิตในเอเชียสูงถึงร้อยละ 54 มีผู้ได้รับกระทบมากถึงร้อยละ 78 และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึงร้อยละ 56
เจอรี่ เวลาสเควซ หัวหน้าสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติให้ข้อมูลว่าแนวโน้มการเกิดน้ำท่วม และพายุพัดถล่มในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทยจะยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการพัฒนาเมืองก็ยังคงพุ่งสูงขึ้น เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติจึงส่งผลให้มีผู้ประสบภัย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามไปด้วย
เจอรี่แนะนำว่า ไทยควรลงทุนมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวอยู่กับน้ำได้ เพราะคนที่สูญเสียมากที่สุดในประเทศไทยคือประชาชนทั่วไปที่สูญเสียบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และทรัพย์สินอื่นๆ จึงต้องช่วยให้เขาปรับตัวได้ในอนาคต และอาจจะต้องมีประกันภัยให้กับบ้าน รวมทั้งต้องมีหลักประกันว่าประชาชนจะต้องมีงานทำแม้ว่าจะถูกน้ำท่วม และโรงงานปิดทำการ
เจอรี่กล่าวด้วยว่าเตือนภัยล่วงหน้าในประเทศไทยอาจไม่มีปัญหามากนักเพราะน้ำท่วมค่อยๆ เคลื่อนมาในระยะเวลาเกือบ 3 เดือน แต่ควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนกับประชาชนว่าน้ำจะมามากแค่ไหน และควรอพยพเมื่อไรมากกว่า
ขณะที่มงคลกร ศรีวิชัย นักวิจัยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการด้านภัยพิบัติของไทยยืนยันว่าจากนี้ไปรอบของการเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำท่วม จะเกิดถี่ขึ้นจากเดิมที่เคยมีระยะห่างทุกๆ 25 ปี ก็จะลดลงมาเหลือทุกๆ 5 - 10 ปี
สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติรายงานด้วยว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทุกปีทวีปเอเชียจะเกิดภัยพิบัติประมาณ 136 ครั้ง ผู้ประสบภัยมากถึงร้อยละ 50 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รองลงมาคือ ภัยแล้ง ที่ได้รับผลกระทบมากถึงร้อยละ 26
นักวิชาการด้านภัยพิบัติจึงเตือนว่าแนวโน้มจากนี้ไปประเทศไทยจะต้องประสบกับภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมใหญ่ และภัยแล้งรุนแรง สลับกันไปทุกๆ 2 - 5 ปี การปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทยในขณะนี้