23 ปี ปัญหา
เวทีสาธารณะ "23 ปี การต่อสู้ของคนปากมูล กับเส้นทางการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชน" ถูกจัดขึ้นอีกครั้ง เพื่อสรุปและวางแนวทางการเดินหน้า รวมทั้งรำลึกการจากไปของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ท่ามกลางความสนใจของประชาชนจากในและนอกพื้นที่ ซึ่งหลายคนที่มาร่วมงานยังคงมีความหวังว่า การต่อสู้ของคนปากมูลจะไม่สูญเปล่า โดยเฉพาะเมื่อรัฐมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เสียงของประชาชนอย่างพวกเขา ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย
สุนีย์ ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สะท้อนเหตุผลที่ทำให้ปัญหาเขื่อนปากมูล ไม่สามารถหาข้อยุติได้ แม้จะผ่านมาถึง 23 ปี ว่าเป็นเพราะแนวคิดของภาครัฐ ที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน จนละเลยมิติความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกัน รัฐก็กังวลว่าการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลแบบถาวรตามข้อเรียกร้อง จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการคัดค้านการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
โครงการเขื่อนปากมูล สร้างกั้นลำน้ำมูลที่บ้านหัวเห่ว ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม เกิดขึ้นเมื่อปี 2532 จากการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกำลังผลิต 136 เมกกะวัตต์
นอกจากมีข้อถกเถียงว่าผลิตไฟฟ้าได้ไม่คุ้มค่าแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ทำกิน และบ้านเรือนราว 4,000 ครัวเรือน ขณะเดียวกันประชาชนก็ยังไม่สามารถทำการประมงได้ตามปกติ เพราะเขื่อนได้ปิดเส้นทางการอพยพของปลาเพื่อวางไข่ ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูลและกว่า 2 ทศวรรษของการเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวปากมูล ยังนำไปสู่การรวมตัวของชาวบ้านจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ในนามกลุ่มสมัชชาคนจน