การเสวนาหัวข้อ "ผู้หญิง สิทธิ และบทบาทในกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ " ซึ่งจัดโดยมูลนิธิอ๊อกแฟม เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคีเครือข่าย นางโซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในชายแดนใต้ เปิดเผยว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้มีหญิงหม้ายกว่า 2,000 คน และมีเด็กกำพร้าอีกกว่า 5,000 คน ขณะที่แนวโน้มผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้วัตถุระเบิดในการก่อเหตุ ซึ่งเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ร่วมกัน ควรผลักดันให้ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในกลไกการแก้ปัญหาและการสร้างสันติภาพทั้งระดับพื้นที่และระดับชาติในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสม โดยเฉพาะระดับการตัดสินใจ
นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานอาวุโส มูลนิธิเอเซีย เห็นว่า การสร้างสันติภาพในพื้นที่ ต้องยึดโยงกับนโยบายเรื่องการบริหารยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาชายแดนใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นหลัก ดังนั้น แผนพัฒนาและแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ฉบับใหม่ ควรปรับนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้กับคนที่เห็นต่าง โดยสร้างบรรยากาศการเจรจาเรื่องสันติภาพ และเสนอให้ภาครัฐ กระจายอำนาจการบริหารชายแดนภาคใต้ให้ทั่วถึง รวมทั้ง กระตุ้นให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมการบริหารงานท้องถิ่น โดยใช้รูปแบบของมาตรการพิเศษ และให้ผู้หญิงเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบาย และมีตำแหน่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อลดเงื่อนไขจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่
ทั้งนี้ วงเสวนา ยังต้องการให้รัฐเร่งจัดทำระเบียบเรื่องการเยียวยา และหาแนวทางตามมติ 1325 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงสิทธิผู้หญิงในด้านต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติในอนุสัญญาผู้หญิง ที่รัฐต้องพัฒนากลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง