ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านปี 55 แนวโน้มปี 56 "ปัญหาที่ต้องเผชิญ"

เศรษฐกิจ
22 ธ.ค. 55
10:30
204
Logo Thai PBS
สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านปี 55 แนวโน้มปี 56 "ปัญหาที่ต้องเผชิญ"

สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Construction Association: THCA) สรุปภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2555

 พบว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเผชิญกับสถานการณ์และปัจจัยลบหลายประการ

โดยมีเหตุเริ่มต้นมาตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดปี 2555 เช่น ปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นกว่าร้อยละ 5-15 และปัญหาที่สำคัญคือการก่อสร้างบ้านล่าช้าเหตุเพราะแรงงานก่อสร้างขาดแคลนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง

ในปี 2555 นี้พบว่า ผู้ประกอบการหันมาบุกต่างจังหวัดมากขึ้น รวมทั้งรายใหม่ๆ ที่เข้ามาแข่งขันในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การปรับตัวดังกล่าวสะท้อนได้ว่า 1) ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการให้บริการของกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านได้ง่ายขึ้น 2) ปริมาณและมูลค่าของตลาดรับสร้างบ้านมีการเติบโตตามพื้นที่ให้บริการ 3) ปัจจุบันและในอนาคตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านอีกต่อไป

ทั้งนี้ ตัวเลขยอดสั่งสร้างบ้านของสมาชิกที่มีสำนักงานตั้งอยู่ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 69 จังหวัด พบว่า ภาคอีสานยังคงมีสัดส่วนยอดสั่งบ้านเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 32 อันดับถัดมาคือภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ 25 อันดับที่ 3, 4 และ 5 ได้แก่ กทม.และปริมณฑล, ภาคใต้ และภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 17, 16 และ 10 ตามลำดับ

ภาพการแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านในปี 2555 นี้ ถือว่ามีความแตกต่างจากปีก่อนๆ เหตุจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่ผ่านมาจึงเห็นการแข่งขันชิงแรงงานหรือช่างแทนการแข่งขันแย่งลูกค้า อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้นำตลาด 2-3 ราย ต่างหันมาเน้นสร้างการรับรู้ผ่านตราสินค้าและแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น โดยปี 2555 พบว่าธุรกิจรับสร้างบ้านใช้งบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านปี 56

สำหรับทิศทางตลาดรับสร้างบ้านปี 2556 สมาคมฯ ประเมินว่าการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านจะขยายออกไปยังต่างจังหวัดเช่นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ด้วยเพราะผู้ประกอบการมีแนวโน้มการลงทุนในตลาดต่างหวัดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และหันมาใช้บริการแทนผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป

ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านในเขตกทม. และปริมณฑล คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 เป็นเพราะผู้บริโภคเลิกกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำแล้ว พิจารณาได้จากกำลังซื้อที่กลับมาใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2555 ประเมินว่า กลยุทธ์สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันปี 2556 น่าจะเป็นเรื่องของ 1)นวัตกรรมก่อสร้างและระบบก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูป 2)การรับรู้และความน่าเชื่อถือในฐานะแบรนด์ผู้นำ 3)พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ในปี 2556 แนวโน้มมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวออกไปยังภูมิภาคอย่างชัดเจน ในปี 2555 มีผู้ประกอบการจำนวนประมาณ 144 ราย (ที่มีรูปแบบชัดเจนและทำตลาดอย่างต่อเนื่อง) โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่กทม. และปริมณฑลจำนวนประมาณ 69 ราย และที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างจังหวัด จำนวนประมาณ 75 ราย

สำหรับตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท โดยแชร์ส่วนแบ่งตกเป็นของผู้รับเหมารายย่อย ในขณะที่ตลาด “รับสร้างบ้าน” ทั้งในกทม. และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดมีมูลค่ารวมประมาณ 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้ปี 2556 สมาคมฯ ประเมินว่า ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะมีมูลค่าประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 5-10 โดยปัจจัยหลักๆ เป็นเพราะการขยายตลาดออกไปทั่วประเทศมากขึ้น ในส่วนของสมาคมฯ เองตั้งเป้าไว้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดบ้านสร้างเอง ได้แก่ - บ้านที่ประชาชนสร้างบนที่ดินของตัวเอง (ไม่ได้สร้างโดยผู้ประกอบการบ้านจัดสรร) โดยอาจว่าจ้างสถาปนิกออกแบบก่อน หรือซื้อแบบบ้านสำเร็จรูป หรือขอแบบบ้านฟรีจากส่วนราชการ จากนั้นจึงว่าจ้างช่างหรือผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป อาจเป็นการจ้างเหมาทั้งวัสดุและค่าแรง หรือจัดซื้อวัสดุเองแล้วว่าจ้างเฉพาะค่าแรง รวมทั้งใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านให้เป็นผู้ทำการก่อสร้าง

ตลาดรับสร้างบ้าน ได้แก่ - บ้านที่ประชาชนสร้างบนที่ดินของตัวเอง (ไม่ได้สร้างโดยผู้ประกอบการบ้านจัดสรร) โดยว่าจ้างหรือใช้บริการเฉพาะกับบริษัทรับสร้างบ้านที่อยู่ในระบบและแข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้านเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง