ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กระทบเลิกจ้าง-แรงงานขาดแคลน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบแรกเมื่อเดือนเมษายน ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มร้อยละ 40 และการปรับเพิ่มในปีหน้า ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 22 โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เกือบ 2 ล้าน 9 แสนรายทั่วประเทศ ซึ่งมีการประเมินกันว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้าเป็น 300 บาท ต่อวัน จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจะทะยอยปิดตัวลง
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้มีการเลิกจ้างแรงงานในระดับล่าง และกระทบต่อเศรษฐกิจในที่สุด โดยจะฉุดให้จีดีพี มีโอกาสลดลงกว่าร้อยละ 2
ขณะที่นายธนา ถิรมนัส ผู้จัดการ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส บริษัทให้บริการด้านการรักษาความปลอดภัย ระบุว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อบริษัท เพราะแรงงานในธุรกิจนี้อิงค่าแรงขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่าธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบหนักจากการ ปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำได้แก่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เฉลี่ยแล้วต้นทุนในภาคการผลิตและการบริการของธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 12-13 และคาดว่าจะทำให้ภาคบริการขาดแคลนแรงงานมากถึงร้อยละ 15 เพราะจะมีการเลือกงานมากขึ้น