ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักตะกร้อลีลาจากมัณฑะเลย์ ถ่ายทอด "ชินลง" สู่ลูกหลานแรงงานข้ามชาติในไทย

Logo Thai PBS
นักตะกร้อลีลาจากมัณฑะเลย์ ถ่ายทอด "ชินลง" สู่ลูกหลานแรงงานข้ามชาติในไทย

มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่เกมการเตะลูกหวายนั้นถือว่าเป็นกีฬาประจำชาติ คู่กับหลายประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "ชินลง" หรือตะกร้อลีลาของพม่า ที่ยกย่องกันว่ามีท่วงท่าสง่างาม โดยนักชินลงเดินทางจากมัณฑะเลย์ ถ่ายทอดลีลาให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติสัมผัสวัฒนธรรมของตน

<"">
<"">

 

นานทีจะได้เห็นลีลาการเดาะลูกหวายที่พริ้วไหวสง่างาม ด้วยท่วงท่าอันเป็นแบบแผนเฉพาะ 10 ท่า เรียกว่าแม่ไม้ชินจี เด็กๆ จาก 4 โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จึงอดตื่นเต้นไปกับฝีมือของนักชินลงชาวพม่า อวดลีลาในลานกิจกรรมโรงเรียนวัดศรีสุทธารามไม่ได้

มองเผินๆ ชินลงคล้ายกับการเล่นตะกร้อวงของไทย แตกต่างด้วยลูกหวายสานขนาดใหญ่-โปร่งกว่า และกติกาที่กำหนดให้มีผู้เล่นหลักกลางวง เรียกว่า มินดา หรือเจ้าชาย แสดงท่วงท่าให้ถูกต้องโดดเด่นสวยงามสร้างความสนุกทั้งคนดูและผู้เล่น และถือเป็นครั้งแรกที่นักชินลงดาวรุ่งจากเทศกาลชินลงในมัณฑะเลย์รวมตัวเฉพาะกิจ เยี่ยมเยือนเพื่อนไทยสร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยน โดยมีชินลงเป็นสื่อสัมพันธ์ ในโอกาสวันแรงงานข้ามชาติสากล

<"">
<"">

 

"เอกลักษณ์และสเน่ห์ของเกมชินลงหลังเดินทางไปศึกษาและฝึกหัดจากพม่า เห็นว่าเกมนี้มีแก่นของมัน คือ กีฬาของความสามัคคีที่ไม่ได้เน้นการต่อสู้แพ้ชนะ" นิกร เภรีกุล (คามิน คมนีย์) นักตะกร้อวง นักเขียนสารคดี

"นอกจากเราจะคุยกันเรื่องคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติเวทีนี้ยังเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ เยาวชนแรงงานข้ามชาติได้เห็นวัฒนธรรมประจำชาติของเขาเอง" สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)

ชินลงไม่ใช่เกมการต่อสู้ที่จะดูว่าใครเหนือกว่าใคร แต่เป็นเกมที่ผู้เล่นจะต้องสร้างสรรค์ลีลาให้ออกมาสวยงามที่สุด ด้วยการผสมผสานกีฬาและการร่ายรำลงไป ซึ่งการล้อมวงเล่นชิงลงของเพื่อนบ้านพม่าวันนี้ ยังเป็นพื้นที่ให้ลูกหลานแรงงานได้ซึมซับวิถีวัฒนธรรมของตนที่มีโอกาสเห็นไม่บ่อยนัก

ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาทีที่ได้ร่วมวงกับนักชินลงมืออาชีพ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับเมอู เด็กชายวัย 11 ขวบไม่น้อย 4 ปีที่จากบ้านเกิดในเมียวดี ติดตามพ่อแม่มาทำงานในเขตอุตสาหกรรมสมุทรสาคร แม้ได้เล่นตะกร้อวงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยเล่นชินลงมาก่อน หลายคนหวังฝึกหัดเกมกีฬาพื้นบ้านนี้ หากมีโอกาสเพิ่มทักษะในเกมกีฬาประจำชาติติดตัว

<"">
<"">

 

"สนุกที่ได้เล่นกับพี่ๆ แม้จะยากแต่ก็พอเล่นได้ อยากฝึกไว้เพราะวันหนึ่งอาจได้กลับไปเล่นที่บ้าน" เมอู เยาวชนเชื้อสายมอญ

"ได้เห็นแล้วก็ภูมิใจเพราะพี่ๆ เขาเก่งมาก ซึ่งเรารู้จักอยู่แล้วเพราะพ่อเคยเอาวีดิโอให้ดู พ่อบอกว่าไม่อยากให้ลืม" ดาว สุขใจ เยาวชนเชื้อสายพม่า

ซูซูวิน นักชินลงชาวพม่า บอกว่า ดีใจที่ได้นำชินลงมาเผยแพร่ในไทย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงจากกีฬาตะกร้อมานาน โดยหวังให้ชาวไทยเห็นวิถีพื้นบ้านอย่างการเล่นลูกหวาย ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์คนในภูมิภาค และไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติจากพม่าเติบโตในไทยมากขนาดนี้ การได้ถ่ายทอดความสวยงามของชินลงต่อพี่น้องร่วมชาติก็ยิ่งทำให้นักชินลงสาววัย 28 ปี มีความสุขและอบอุ่นใจ

<"">
<"">

 

ศิลปะลีลาการใช้เท้าเล่นลูกหวายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีชื่อเรียกแตกต่างกัน ในไทยเรียกตะกร้อวง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์เรียกเซบักการา ฟิลิปปินส์เรียกสีปา ส่วนลาวเรียกว่ากะต้อ ซึ่งชินลงของพม่า เป็นเกมการเล่นเพื่อความสวยงาม ที่สืบทอดมาหลายร้อยปี ยังนิยมเล่นกันทั่วไป จัดเป็นเทศกาลประจำปีตลอด 1 เดือนภายในวัดมหามุนีในมัณฑะเลย์

การผสมผสานท่าทางการเล่นจากการร่ายรำและวิถีชีวิตของชาวพม่า ทำให้ปัจุบันมีท่วงท่ามากกว่า 200 ท่า เช่นท่าอินเลเย-เช พยะ ประยุกต์มาจากการใช้ขาแจวเรือของชาวอินเล

ตลอดจนดัดแปลงมาสู่ลีลากายกรรมจากลูกชินลง แสดงความสามารถพิเศษของชาวพม่า ที่ครั้งนี้ยังหวังให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมดีงามของตนด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง